พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๑

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 4,341 คน

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๑

 

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้ใช้ราชสกุลว่า “มหิดล” จนถึงปัจจุบัน

          เมื่อกล่าวถึงพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดลนั้นมีมากมายหลากหลายชนิดคงไม่สามารถนำมาพรรณนาให้ได้รู้จักกันอย่างครบถ้วนได้ในคราวเดียว ดังนั้นทางผู้เขียนจึงขออนุญาตเขียนบทความเป็นตอนๆ และจะได้นำออกเผยแพร่ตามความเหมาะสมต่อไป เนื่องด้วยเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่เหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้น้อมรำลึกถึงพระมาหากรุณาธิคุณของพลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลตำรวจเอกหญิง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือพระนามที่นิยมเรียกกันว่า สมเด็จย่า ซึ่งพระองค์ท่านพระราชสมภพ วันอาทิตย์ ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ และสวรรคตวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระชนมายุ ๙๔ พรรษา พระองค์เป็นพระราชชนนีใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีในปี พ.ศ. ๒๔๕๖) ทรงเป็นบุตรคนที่ ๓ ในพระชนกชู และพระชนนีคำ ทรงมีพระภคินี และพระเชษฐา ๒ คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่พระอนุชาอ่อนกว่าพระองค์ ๒ ปี คือ คุณถมยา และนอกจากวันที่ ๒๑ ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่าแล้ว ยังเป็นวันที่มีความสำคัญอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิวันพยาบาลแห่งชาติ วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ วันอาสาสมัครไทย และวันรักษ์ต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งวันสำคัญดังกล่าวนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน และในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พุทธศักราช ๒๕๔๓ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก จึงมีมติในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๐ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในฐานะที่ทรงเป็น “บุคคลของโลกที่มีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

 

     "นามพรรณไม้ราชสกุลมหิดล นามมงคลแห่งสยามวงศ์จักรี
นครินทรา พระบรมราชชนนี สง่าศรีสมเด็จย่าผองทวยไทย
กันภัยมหิดล มงคลนาม ไม้เลื้อยงามเถาเครือพันดอกสวยใส
เฉลิมพระเกียรติก้องกังวานไกล น้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยพระบารมี
พระราชกรณียกิจ ธ ทรงกอปร ทั่วเขตรอบแคว้นขวานทองสยามศรี
บำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร์เปรมปรีดิ์ สดุดีน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ"

 

 

กันภัยมหิดล

 

          เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นไม้ประจำถิ่นของไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งพบครั้งแรกโดยอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) ที่น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๑๕ ชื่อชนิด mahidoliae นี้ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชื่อท้องถิ่นคือ กันภัย (ภาคกลาง สระบุรี) ชื่อพฤกษศาสตร์คือ Afgekia mahidoliae B.L. Burtt & Chermsir. เป็นพรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ PAPILIONACEAE ลักษณะ ลำต้น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง อายุหลายปี กิ่งอ่อนสีเขียว มีขนนุ่มทั่วไป ใบ ประกอบแบบขนนก ปลายคี่ออกสลับ ใบย่อย รูปรีแกมขอบขนาน แผ่นใบบาง ใต้ใบมีขนหนาแน่นกว่าด้านบนใบ ดอก ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกทยอยบานจากโคนช่อมาปลายช่อ ๔-๖ ดอก กลีบประดับสีม่วงอมเขียว รูปเรียวกลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยก ๕ แฉก ดอกรูปดอกบัว มี ๕ กลีบ กลีบกลางสีม่วง กลีบคู่ข้างสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีเหลืองอ่อน โคนกลีบมีแถบสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม มีขนปกคลุม ผล เป็นฝักรูปแถบ สีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมื่อแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ด รูปกลม ๒ เมล็ด สีดำเป็นมัน ระยะเวลาติดดอกช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน สภาพทางนิเวศวิทยา พบตามป่าเต็งรัง ภูเขาหินปูนในภาคตะวันตก ชอบแสงแดดจัด และขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด การใช้งานด้านภูมิทัศน์นิยมปลูกประดับซุ้มไม้เลื้อยให้ดอกสีสรรสวยงาม

 

     “งามพรรณไม้ดอกเลื้อย กันภัยมหิดล
ขาวม่วงชมพูไพร แทรกซ้อน
กลีบพลิ้วอ่อนเครือไหว รมย์รื่น
เถารัดกวัดอ้อน ชดช้อยตามลม”

 

 

นครินทรา

        

     เป็นพรรณไม้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นชื่อ
พฤกษศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพรรณไม้ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ว่า “นครินทรา” แปลว่า พรรณไม้ที่เป็นศรีสง่าแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดอยู่ในวงศ์ชาฤาษี (GESNERIACEAE) ชื่อทางพฤกษศาสตร์คือ Trisepalum sangwaniae ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒๐-๖๐ เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มตั้งตรงหรือเอนไปตามพื้นหิน ลำต้นส่วนล่างเป็นไม้เนื้อแข็งมีนวมหุ้ม กิ่งมีขนาดเล็กและเรียว ใบ เป็นใบเดี่ยว ๔-๕ คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นเป็นรูป ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบใบมีลักษณะหยักมน เป็นครีบสอบยาวเรียวเชื่อมต่อมาจากโคนแผ่นใบ ช่อดอก มีลักษณะเป็นกระจุก เกิดที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับ และใบประดับย่อยรองรับดอกรูปร่างมน กลีบเลี้ยงห้ากลีบเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกเป็นรูประฆังสีขาวอมม่วงอ่อน ผล แบบผลแห้งแตก เมื่อผลแก่จะบิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นพืชหายาก และจะพบเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น (endemic species) สำรวจพบที่เขาหินปูนบริเวณดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และด้วยเหตุนี้ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์จึงไม่สามารถนำพรรณไม้ชนิดนี้มาปลูกแสดงให้ได้ชื่นชมความงดงามได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสภาพถิ่นที่อยู่ที่มีความจำเพาะ (อ้างอิง http://www.siamensis.org/webboard/topic/7375)

 

     “ นครินทรา ดอกเจ้า งามพรรณ
พบเฉพาะถิ่นไทยนั้น ใช่อ้าง
สีม่วงกลีบบางพลัน ครามช่อ
ทะนุถนอมบ้าง ฝากไว้ได้ยล”

 

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย