ปาล์มสตอรี่ ตอนที่ 2 เครื่องสูง บังสูรย์ ปาล์ม

  • 02/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,862 คน

ตอนที่ 2 เครื่องสูง บังสูรย์ ปาล์ม

 

ปาล์มบังสูรย์ /ปาล์มข้าวหลามตัด (Diamond Joey Palm)

Johannesteijsmannia altifrons (Rchb.f. & Zoll.) H.E.Moore

 

เป็นปาล์มที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ใบ ใบมีรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ในต่างประเทศเปรียบลักษณะใบของปาล์มชนิดนี้เป็นรูปเพชรตัด ชื่อปาล์มบังสูรย์ มาจากอาจารย์ประชิด วามานนท์ ผู้รับหน้าที่จัดสวนและตกแต่งบริเวณพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เห็นว่าปาล์มชนิดนี้ใบมีรูปทรงเหมือนเครื่องสูง หรือเครื่องขัตติยราชประเพณี ซึ่งใช้บังแสงแดดในพิธีแห่ โดยเสด็จขบวนพระยุหยาตราที่เรียกว่า “บังสูรย์” (บังแสงแดด) จึงนำนามเครื่องสูงนี้มาตั้งชื่อปาล์มชนิดนี้ว่า “ปาล์มบังสูรย์”

ซึ่งเครื่องสูงที่ใช้สำหรับประกอบพระบรมราชอิสริยยศในการเสด็จฯ ในริ้วขบวนแห่มีทั้งหมด 8 สิ่งได้แก่ ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 3 ชั้น พระกลด บังแทรก บังสูรย์ จามร และพัดโบก แบ่งออกเป็นสองลักษณะถ้าเป็นเครื่องสูงชนิดพระอภิรุมชุมสายบังแทรกพระกลดบังสูรย์ที่ใช้ประดับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์สมเด็จพระบรมราชินีสมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระยุพราชจะระบุเป็นเครื่องปักหักทองขวาง แต่ถ้าสำหรับชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าเป็นเครื่องปักทองแผ่ลวดฉลุลายโดยฉัตรจะมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความผู้มีอำนาจและเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญตามคติความเชื่อของอินเดียใช้สำหรับแขวนปักตั้งเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ เพื่อการเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์เป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นพระราชาธิบดีนับตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน เครื่องสูงมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยตามที่ได้กล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วงจนถึงยุครัตนโกสินทร์เครื่องสูงยังมีความสำคัญในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอาจมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปทั้งชนิดและการใช้ของเครื่องสูง

ปาล์มบังสูรย์ พบมากในป่าบนเขาสูงเขตรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอเนียว คนพื้นเมืองเรียกปาล์มชนิดนี้ว่า “บูเก๊ะลีแป” โดยคำว่า บูเก๊ะ มาจาก บูกิต เป็นภาษามาลายู แปลว่า ภูเขา ส่วนคำว่า ลีแป นั้นแปลว่า ตะขาบ ฉะนั้นคำว่า บูเก๊ะลีแป จึงแปลว่า ตะขาบภูเขา เข้าใจว่าชาวบ้านเรียกชื่อจากช่อดอกของปาล์มชนิดนี้ ซึ่งดูคล้ายๆ ตะขาบ มักพบขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ 30-40 ต้นขึ้นไป การใช้ประโยชน์ของใบปาล์มยังหนีไม่พ้นการนำมามุงหลังคา ทำฝากระท่อมในไร่หรือทุ่งนา เพื่อบังแดดกันฝน มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี ปัจจุบันใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ หากท่านใดสนใจสามารถชมความงามของปาล์มบังสูรย์ได้ที่ เรือนร่มไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

 

เอกสารอ้างอิง

พูนศักดิ์ วัชรากร. ปาล์มและปรงในป่าไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน, 2548.

https://sites.google.com/site/tnmihayak/palm-bangsury

http://thaipalm.myspecies.info/file/15

https://www.thaipost.net/main/detail/35081

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย