พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๒

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 3,820 คน

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๒

         

          เนื่องในวโรกาสเดือนอันเป็นมหามงคลที่พสกนิกรชาวไทยจะได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม และครองใจเหล่าทวยราษฎร์ทุกหมู่เหล่า และในเดือนธันวาคมนี้จึงขอกล่าวถึงพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นตอนที่ ๒ โดยจะได้กล่าวถึงพรรณไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานชื่อทั้งสองชนิด คือ ทิวลิปคิงภูมิพล และ ภูมิพลินทร์

 

     “นามพรรณไม้ราชสกุลมหิดล คิงภูมิพล ทิวลิป เหลืองงามอร่าม
สีสวยสดงดงามเลื่องลือนาม เนื่องด้วยความภักดีรัฐราษฎร์ไทย
ภูมิพลินทร์ งามพรรณศรีสง่า ปวงประชาชื่นชมสมสมัย
เทิดพระเกียรติถวายพระพรชัย เหล่าข้าฯ ไท้ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

 

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาน์ออเบิอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเชตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

          ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”

          อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

และพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

          ย้อนไปเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ในวันที่ ๙ มิถุนายน นับเป็นมหามงคลสมัยอันประเสริฐยิ่งที่ปวงพสกนิกรชาวไทยทั้งหลายทุกหมู่เหล่า ต่างปลื้มปิติโสมนัสที่ได้แสดงความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวที และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างอเนกอนันต์หาที่สุดมิได้ จึงได้พร้อมใจจัดงานเฉลิมฉลองให้สมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ภาพแห่งความจงรักภักดีที่ทั้งบุคคลในทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงออกนั้นได้ปรากฏต่อสายตาอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกมุมโลก และทำให้ทั่วโลกได้รู้จักพระองค์ในพระนาม “King of the Kings” พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ไทย และในโลกตราบจนถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวนายกลาส คูไดค์ เกษตรกรชาวดัตช์ เจ้าของบริษัท FA.P. Koeddiik & Zn ได้รับแรงบันดาลใจในการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อดอกทิวลิป “King Bhumibol” ให้แก่ดอกทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ ซึ่งมาจากความประทับใจ ในความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ในช่วงการจัดงานเฉลิมฉลองในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และในปี ๒๕๕๒ สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดอกทิวลิป “King Bhumibol

          สำหรับดอกทิวลิป King Bhumibol” มีสีเหลืองนวลทั้งดอก ความสูงของดอก และก้านรวม ๔๕ เซนติเมตร ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากดอกทิวลิป Prince Claus ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดอกทิวลิป สายพันธุ์ Judith Leyster ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีมากสายพันธุ์หนึ่ง ในบรรดาสายพันธุ์ดอกทิวลิปของประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับพระราชทานชื่อจาก Prince Claus พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ แห่งเนเธอร์แลนด์

 

     “งาม ทิวลิป ชื่อนี้ คิงภูมิพล
เหลืองอร่ามน่ายินยล มิ่งไม้
ราษฎร์รัฐภักดีพล เฉลิมราชย์
ถวายพระพรไท้ แซ่ซ้องสดุดี”

         

 

          สำหรับ “ภูมิพลินทร์” เป็นพรรณไม้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระปรมาภิไธยเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพรรณไม้ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ว่า

          “ภูมิพลินทร์” แปลว่า พรรณไม้ที่เป็นศรีสง่าแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ชาฤาษี (GESNERIACEAE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Trisepalum bhumibolianum แหล่งที่สำรวจพบบริเวณ แก่งหินปูน เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน

          ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒๐ - ๖๐ เซนติเมตร ลำต้นส่วนล่างเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกไม้แตกเป็นร่องตามแนวยาวสีน้ำตาลอมเทา กิ่งมีขนาดเล็กและเรียว ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๑.๕ - ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๕ - ๖ เซนติเมตร ปลายใบมีลักษณะมน โคนใบเป็นรูปลิ่ม ใต้ใบปกคลุมด้วยขนเหมือนใยแมงมุม สีขาว ก้านใบยาว ๓ - ๗ มิลลิเมตร ใบจะเรียงตัวตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอก เป็นกระจุกสั้น เกิดที่ยอดหรือใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยรองรับดอก กลีบเลี้ยงห้ากลีบ เป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอกเป็นรูประฆังสีชมพูหรือม่วงอ่อน ผล แบบผลแห้งแตก เมื่อผลแก่จะบิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพืชที่มีการสำรวจพบใหม่ อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีลักษณะของถิ่นที่อยู่เฉพาะ จึงไม่สามารถนำมาปลูกจัดแสดงภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้ จึงนำลักษณะเด่นพร้อมทั้งรูปภาพของพรรณไม้ดังกล่าวมาให้ชมกันก่อนครับ

 

     “งามพรรณสง่าไม้ เพียงดิน
ชื่อ ภูมิพลินทร์ คู่ฟ้า
ดั่งพระสยามมินทร์ ยศยิ่ง
ธ ปกครองเหล่าข้าฯ อยู่ยั้งเพียงดิน”

          

 

          นับเนื่องเวลา ๘๕ พรรษา แห่งการประสูติกาล และ ๖๖ ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญา ทรงกอปรพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ มากมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของพสกนิกรเป็นหลัก ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงให้ทุกอย่างกับพสกนิกร และชาติบ้านเมือง ทรงงานอย่างหนัก เสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ ตรากตรำพระวรกายอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพียงเพื่อมุ่งหวังให้พสกนิกรทั่วราชอาณาจักรมีความสงบร่มเย็น และมีความกินดีอยู่ดี พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยนั้นใหญ่หลวงนัก สมดังที่ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมของเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า อุทยานหลวงราชพฤกษ์

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

 

กวีศิลป์   คำวงค์

อ้างอิง http://www.siamensis.org/webboard/topic/7375 และ http://www.weloveorchid.com/

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย