เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๓

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 5,285 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๓

ประดู่ ประดอกไม้ประจำชาติของเมียนมาร์

Burmese Rosewood is the National Flower of Myanmar

 

သင်ဘယ်လိုရှိပါသလဲ

 

         ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่มีเทศกาลสงกรานต์ในช่วงที่อากาศร้อนเช่นนี้ ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า ก็มีเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกัน ในห้วงระหว่างกลางเดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์นอกจากจะเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังเป็นเทศกาลแห่งน้ำ เพื่อใช้น้ำในการช่วยบรรเทาความร้อนของสภาพอากาศในเดือนที่ร้อนที่สุดแห่งเอเชียอาคเนย์

         ดอกประดู่ หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “บะเด้าปาน” นอกจากจะถือว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่าแล้ว ยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลปีใหม่ของพม่า ที่ชาวพม่าเรียกว่า “ตะจั้น” หรือ “ตะจ่าน” (Thingyan) ราวกลางเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ดอกประดู่จะบานสะพรั่ง เป็นสีเหลืองทองอร่ามไปทั่วประเทศพม่า จากป่าสู่หมู่บ้าน และไม่เว้นแม้แต่เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง ที่จะพบดอกประดู่ที่ปลูกเป็นไม้เรียงรายต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดสองข้างทางเข้าออกสนามบินย่างกุ้ง ประดู่เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงต้นแผ่ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ดอกประดู่มีขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นช่อรวมกัน มักออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่กวี และนักประพันธ์บทเพลงได้เปรียบเทียบกับความจงรักภักดีต่อความรัก ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต เมื่อต้นประดู่เริ่มผลิดอกยามถึงเทศกาลสงกรานต์ชายหนุ่มจะปีนขึ้นไปเก็บดอกประดู่ นำมามอบให้กับหญิงสาวที่ตนเองชอบ เปรียบประหนึ่งเป็นของขวัญ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความซื่อสัตย์ และเป็นการขออนุญาตรดน้ำเธอ ส่วนหญิงสาวชาวพม่ามักไว้ผมยาวแล้วเกล้ามวยผมพร้อมประดับตกแต่งด้วยช่อดอกประดู่บนศีรษะ เช่นเดียวกับหญิงสาวทางเหนือของไทยที่ใช้ดอกเอื้องแซมผม นอกจากจะช่วยทำให้ผมมีกลิ่นหอมจากดอกไม้แล้ว ยังถือเป็นเครื่องประดับตกแต่งด้วยอีกทางหนึ่ง ชาวพม่าถือว่าดอกประดู่เป็นดอกไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระนามส่า “ติสส” ตรัสรู้ใต้ต้นประดู่ จึงนิยมใช้ดอกประดู่ในงานมงคล ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และถวายเป็นพุทธบูชา ประดับตกแต่งในกระถางหม้อดิน สลุงหรือขันน้ำสีเงิน ยวนยานพาหนะที่แล่นไปรอบๆ เมืองก็จะถูกประดับประดาตกแต่งด้วยพวงมาลัยดอกประดู่ที่ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว บริเวณสถานที่ที่พวกเขาสาดน้ำนักท่องเที่ยวหรือตามอาคารบ้านเรือนต่างก็จะถูกตกแต่งด้วยดอกไม้สีเหลืองทองอย่างดอกประดู่เช่นกัน เป็นการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ที่ชุ่มฉ่ำ และเหลืองทองอร่ามสดใสไปทั้งเมือง คราใดที่ดอกประดู่ชูช่อสีเหลืองทองอร่ามบานสะพรั่งอยู่ทุกหัวระแหง นั้นคือสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เทศกาลสงกรานต์ ได้มาถึงแล้ว เนื่องจากดอกประดู่จะบานเพียงปีละครั้ง และจะบานเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น จึงเป็นดอกไม้ประจำเดือนเมษายนของชาวพม่า และเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลสงกรานต์ด้วยอีกนัยหนึ่ง นอกจากนี้ชาวพม่ายังเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน คงทน

         ประดู่เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในสกุล Pterocarpus เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ PAPILIONACEAE โดยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ‘Pterocarpus indicus Willd.’ และชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า ‘Burmese Rosewood’ ส่วนการใช้ประโยชน์จากไม้ประดู่นั้น ชาวพม่านิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหรา และมีราคาแพง เนื้อไม้ประดู่นำไปใช้ในงานก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกอาคาร เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานสูง เนื้อไม้มีสีสวยงาม สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอิฐเข้ม มีเส้นสีแก่กว่าสีพื้น เสี้ยนสนเป็นริ้วไสกบตบแต่งชักเงาได้ดี ซึ่งเป็นสินค้าที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ และการส่งไม้ประดู่ไปยังตลาดโลกยังเป็นรายได้หลักเข้าประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ไม้ประดู่ยังมีคุณสมบัติที่กลิ่นหอม จึงมีการนำไปใช้เป็นเครื่องประทินผิวเหมือน ทะนะคา (ในไทยเรียกต้นกระแจะ หรือ Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.) และมีสรรพคุณทางยา เนื้อไม้ประดู่ต้มดื่มแก้ไข้ เสมหะ เลือดกำเดาไหล ใบอ่อนใช้พอกแผลช่วยให้แห้งเร็ว แก้ผื่นคัน ยางไม้ใช้แก้ท้องเสีย

          ส่วนในประเทศไทยดอกประดู่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย โดยได้เอาลักษณะเด่นของดอกประดู่มาเป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือ เพราะดอกประดู่นอกจากงดงาม และหอมไกลแล้ว ยังแปลกกว่าดอกไม้อื่นๆ ตรงที่จะบาน และร่วงพร้อมกันทั้งต้น เปรียบเสมือนทหารเรือที่อยู่ในเรือรบกลางทะเล หากอยู่รอดก็รอดด้วยกัน หากเรือจมก็จะตายพร้อมกันหมดนั่นเองในประเทศมาเลเซียเรียกประดู่ว่า Padauk หรือ Angsana และ Sena ประเทศฟิลิปปินส์เรียก Narra ในประเทศอินโดนีเซียเรียก Sonokembang และในประเทศกัมพูชาเรียก tnug

 

“หอมดอก ประดู่ เจ้า     โชยกลิ่น

                                                                                         งามยิ่งได้ยลยิน                 แมกไม้

                                                                                         ทองอร่ามเหลืองริน            ระรื่น

                                                                                         ฝากแผ่นผืนดินไว้              คู่ฟ้าเมียนมาร์”

 

ကျေနပ်

กวีศิลป์ คำวงค์

 

อ้างอิง

ธีรภาพ โลหิตกุล. พาเที่ยวพม่า พม่าพาเที่ยว.[เวปไซต์] https://www.facebook.com/permalink.php?

            story_fbid=100882880082446&id=181474105223246 (21 มกราคม 2558)

สาละวินนิวส์.ประดู่ ดอกไม้แห่งเทศกาลสงกรานต์.[เวปไซต์] http://salweennews.org/home/­p=7332

           (21 มกราคม 2558)

Thein, Myat Kyi La. Padauk. [เวปไซต์] http://blog.aseankorea.org/archives/838 (20 มกราคม 2558)

National Tropical Botanical Garden. [เวปไซต์] http://ntbg.org/plants/plant_details.php (22 มกราคม 2558)

 

อ้างอิงรูป

http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4858

http://salweennews.org/home/­p=7332

http://www.photoontour.com/worldphotos/23/23_water_festival01.htm

https://www.flickr.com/photos/eddingrid/14058566162/

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย