เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๔

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 12,973 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๔

ลำดวน ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา

Rumdul is the National Flower of Cambodia

        

រីករាយណាស់ដែលបានស្គាល់

         

          ผู้คนในประเทศกัมพูชานิยมปลูกต้นลำดวนไว้ตกแต่งตามบริเวณบ้านเรือน และในสวนสาธารณะ เนื่องจากมีกลิ่นหอม คนเขมรโบราณนิยมใช้ดอกลำดวนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีผึ้งทาริมฝีปากสำหรับผู้หญิง ซึ่งถูกเรียกว่า kramuon rumduol (เขมร: ក្រមួនរំដួល) ส่วนลำต้นของลำดวนยังสามารถใช้สำหรับเป็นวัสดุในการก่อสร้างบ้านเรือนตลอดจนใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นฟืนได้ ในช่วงฤดูการที่ผลของลำดวนสุก คนที่อยู่ใกล้ป่าก็จะเก็บผลลำดวนสุกมาขายเพื่อเป็นรายได้ในการเลี้ยงชีพ กลิ่นหอมของดอกลำดวนเป็นที่ตรึงใจแก่ผู้ที่ได้สูดดมกลิ่น นักกวีนิพนธ์ชาวเขมรจึงได้นำดอกลำดวนไปใช้ในการเปรียบเทียบความงดงาม และหอมหวนกับสตรีดังจะเห็นได้จากบทเพลงในหลายบทเพลง อาทิ Rumdul Kraties และ Rumdul Pursat ฯลฯ

           ผการ็อมดวล หรือ ร็อมดวล หมายถึง ดอกลำดวน ที่ปรากฏ และนำมาใช้ประพันธ์ในบทเจรียงกันตรึมหรือบทร้องของชาวเขมร และชาวอีสานใต้เชื้อสายกัมพูชาในประเทศไทย ซึ่งมักใช้ในพิธีมงคลต่างๆ เป็นที่นิยม และปรากฏในบทร้องทั้งเก่า และใหม่ที่ได้เเต่งขึ้นสำหรับร้องกันตรึม เช่นในบทร้องทำนองกั๊จผกา (เด็ดดอกไม้) ตอนหนึ่งปรากฏเนื้อร้องกันตรึม “การนำดอกลำดวนนำมาเปรียบเปรยถึงการทนุถนอมดอกไม้ที่มีค่าทั้งความงาม และความหอมกับหญิงที่ตนรักที่ชายคนหนึ่งต้องพลัดพรากจากคนรักที่ตนหมายปอง” การนำดอกลำดวนมาใช้ในบทเจรียงนี้เป็นที่นิยมมาก เเสดงให้เห็นว่า เป็นดอกไม้ทรงคุณค่าในเรื่องความหอม ความงามของกลีบดอกที่เเข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมแม้จะผลิดอกในช่วงฤดูร้อนแต่ความหอม และความงามต่างเป็นที่หมายปองของคนทั่วไปที่ต้องการจะเด็ดมาเป็นเจ้าของ เปรียบได้กับความงามของหญิงที่มีกิจติศัพท์เรื่องความงามเฉกเช่นกลิ่นหอมของดอกลำดวนที่ฟุ้งขจรไปทั่ว ถึงผู้ที่ได้พบเห็นต่างสรรเสริญหมายปองให้มาเป็นเจ้าของหรือคู่ครองแก่บุตรหลานตน

           ในหลายพื้นที่ในประเทศกัมพูชาได้รับการตั้งชื่อตามดอกไม้ชนิดนี้ เช่น ตำบล Rumdoul และ Ou Rumduol ต่อมาในปี 2005 พระราชกฤษฎีกาโดยกษัตริย์สีหมุนีของประเทศกัมพูชา ประกาศให้ดอกลำดวน หรือ Rumduol เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศกัมพูชา แต่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้อ้างอิงชื่อพ้องไม่ถูกต้องสำหรับแท๊กซอนนี้ (Mitrella mesnyi (Pierre) Bân) Rumdoul มักถูกเรียกว่า Popowia aberrans Pierre ex Finet & Gagnep. บนป้ายชื่อพฤกษศาสตร์ตามที่ระบุไว้โดย Headley ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-กัมพูชา

         ลำดวนยังเป็นชื่อที่ชาวกัมพูชานำไปตั้งชื่อให้กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในประเทศ ชื่อว่า ข้าวหอมพันธุ์ดอกลำดวล และเมื่อการประกวดพันธุ์ข้าวเมื่อปี 2012 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย.ข้าวหอมกัมพูชา พันธุ์ดอกลำดวน คว้ารางวัลที่ 1 ข้าวหอมพื้นเมืองพันธุ์ดอกลำดวน (Rumduon) ซึ่งเป็นข้าวจ้าวเม็ดเล็ก กลิ่นหอมจัด รสนุ่มนวล เมื่อปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ กล่าวคือ ใช้ปุ๋ยคอก และไม่ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงใดๆ ตลอดฤดูกาล ข้าวหอมพื้นเมืองลำดวนได้ชื่อว่าเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในประเทศกัมพูชา มีราคาแพง และยังปลูกได้น้อยเกือบทั้งหมดส่งออกผ่านพ่อค้าคนกลางโดยตลาดในยุโรปรับซื้ออย่างไม่อั้น และข้าวหอมพันธุ์ “ดอกลำดวน” ยังได้รับรางวัลร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทยในเวทีการประชุมข้าวโลก World Rice Conference ประจำปี 2014 และเป็นความหวังใหม่ของวงการตลาดข้าวของกัมพูชาอีกด้วย

         

          ในประเทศไทยพืชชนิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อของลำดวน โดยมักจะอ้างอิงถึงชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า 'Melodorum fruticosum Lour.' ในสิ่งพิมพ์ของประเทศไทย ขนมไทยก็มีชื่อว่าขนมกลีบลำดวน โดยรูปทรงของขนมจะคล้ายคลึงกันกับรูปทรงของดอกลำดวน ซึ่งขนมกลีบลำดวนนั้น เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลีเคล้าน้ำตาลกับน้ำมัน ปั้นเป็นดอก 3 กลีบ และมีเกสรกลม ๆ ตรงกลางอย่างดอกลำดวน แล้วนำไปอบหรือผิงจนสุก และนำไปอบด้วยควันเทียนหอมเป็นขั้นตอนสุดท้าย ขนมดอกลำดวน หรือ ขนมกลีบดอกลำดวน เป็นขนมที่เป็นมงคล มีความหมายที่ดี ซึ่งหมายถึง ช่วยทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และยังมีความหมาย สร้างความงดงามให้กับชีวิตคู่ คนเฒ่าคนแก่เลยมักใช้ประกอบพิธีงานแต่งงาน

 

             จากบทพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร มหากวีของไทย ทรงกล่าวถึงลำดวนในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกว่า

                                                                         ลำดวน เจ้าเคยร้อย           กรองเป็นสร้อย ลำดวน ถวาย

                                                                  เรียมชมดมสบาย                      พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง ฯ

                                        ลำดวน ปลิดกิ่งก้าน        สนสาย

                                          กรองสร้อย ลำดวน ถวาย           ค่ำเช้า

                                          ชูชมดมกลิ่นสบาย                     ใจพี่

                                                                  เอาสร้อยห้อยคอเจ้า                   แนบหน้าชมโฉม ฯ

จากบทพระนิพนธ์ตอนดังกล่าวจึงได้รู้ว่าคนโบราณใช้ดอกลำดวนร้อยเป็นมาลัยคล้องคอเหมือนกัน คนสมัยใหม่ได้เห็นเข้าคงจะว่าสวยแปลกตาดีเหมือนกัน เพราะดอกลำดวนมีรูปทรงสวยงามราวกับปั้นแต่งขึ้น ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นมีใครร้อยมาลัยดอกลำดวนกันจริงๆ แล้วดอกไม้ชนิดนี้มีกลีบค่อนข้างแข็ง ไม่บอบช้ำง่าย จึงเหมาะจะนำมาร้อยเป็นมาลัยมอบให้แก่กันแทนความรักที่มั่นคงแข็งแกร่ง และยาวนานไม่เปลี่ยนแปลง

       การปลูกดอกลำดวนนั้นจะเพิ่มความเป็นมงคลสดชื่นให้กับชีวิต คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นลำดวนไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความคิดถึง ความสดชื่น เพราะลำดวน คือ ความกลมกลืน ความดูดดื่ม ความชื่นฉ่ำ นอกจากนี้ดอกของลำดวนยังมีลักษณะสีนวลสว่างกลิ่นหอมเย็น กระจายไปไกลมิรู้คลาย และยังเชื่ออีกว่าเกสรของลำดวนเป็นยาวิเศษอย่างหนึ่ง สำหรับบำรุงสุขภาพจิตที่ดีได้อีกด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้าน และผู้อาศัยควรปลูกต้นลำดวนไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ ถ้าจะให้เป็นมงคลแก่ตัวเองผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เพราะชื่อลำดวนเป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับสุภาพสตรี

        และทุก ๆ ปี จังหวัดศรีสะเกษจะจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน เนื่องจากลำดวนเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นทั้งต้นไม้ และดอกไม้ประจำจังหวัด และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ก็มีต้นลำดวนกว่า 40,000 ต้น ถือว่าเป็นสวนที่มีต้นลำดวนมากที่สุดในโลก และในช่วงที่มีการจัดเทศกาลนั้นอยู่ในราวเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ดอกลำดวนบานสะพรั่ง และในช่วงพลบค่ำถึงตอนเย็นดอกลำดวนก็จะส่งกลิ่นหอม เย็นๆ ตลบอบอวลไปทั่วบริเวณงาน นอกจากนี้ดอกลำดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และดอกลำดวนยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของผู้สูงอายุเนื่องจาก ลำดวนเป็นไม้ที่อายุยืน ไม่ทิ้งใบ จึงเขียวชอุ่มให้ร่มเงาตลอดปี ดุจดัง ผู้สูงอายุซึ่งเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานเสมอ นอกจากนั้นดอกลำดวนยังมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย เปรียบได้กับผู้สูงอายุที่ทรงคุณธรรม ความดีงาม ไว้เป็นแบบอย่างแก่สังคมเสมอมา

 

ชื่อไทย :                    ลำดวน

ชื่อท้องถิ่น :               หอมนวล (เหนือ)

ชื่อสามัญ :                  White cheesewood

ชื่อวิทยาศาสตร์ :       Melodorum fruticosum Lour.

ชื่อพ้อง :                   Mitrella mesnyi (Pierre) Bân

                                 Popowia aberrans Pierre ex Finet & Gagnep.

                                 Sphaerocoryne affinis Ridl.

                                 Unona mesnyi Pierre

ชื่อวงศ์ :                    ANNONACEAE

ลักษณะวิสัย :            ไม้ยืนต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ลำต้น : เป็นไม้ต้น สูง 8 - 15 ม. เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล เมื่อต้นแก่จะแตกเป็นร่องละเอียดตื้นๆ ตามยาวของลำต้น

               ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปรียาว กว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-15 ซม. โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ด้านล่าง
                      สีเขียวนวลยอดอ่อน และใบอ่อนสีแดง

            ดอก : ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ และปลายยอด กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงนอกมี 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่า
                      กลีบดอกวงในมี 3 กลีบงุ้มเข้าหากันเป็นโดม กลีบดอกหนา และแข็ง มีกลิ่นหอม

               ผล : เป็นผลกลุ่ม ผลย่อยรูปกลมรีมี 15-20 ผล ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอสุกเป็นสีม่วงแดง เมล็ด มีหลายเมล็ดต่อ 1 ผลย่อย

ระยะติดดอก - ผล :  เริ่มติดดอก : ธันวาคม           สิ้นสุดระยะติดดอก : มีนาคม
                                เริ่มติดผล  : มิถุนายน            สิ้นสุดระยะติดผล  :  สิงหาคม

สภาพทางนิเวศวิทยา

                           นิเวศวิทยา : ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

                            ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                  การกระจายพันธุ์ : พบในประเทศคาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู

        การใช้งานด้านภูมิทัศน์ : ดอกหอมเป็นพุ่มใบสวยงาม นิยมใช้จัดสวนแต่ควรปลูกระหว่างไม้ต้นอื่นๆ เพราะต้องการความชุ่มชื้นจึงจะเติบโตได้อย่างแข็งแรง

  การปลูกและการขยายพันธุ์ : ดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด

 

รายละเอียดการใช้ประโยชน์ :     

           - ดอกแห้ง เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม

           - เกสร มีสรรพคุณบำรุงกำลัง และบำรุงหัวใจ จัดอยู่ในจำพวกเกสรทั้งเก้า “พิกัดเนาวเกสร” ประกอบด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกลำเจียก และดอกลำดวน

           - ผล มีรสหวานรับประทานได้

           - ปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ให้ร่ม ดอกสวยงาม มีกลิ่นหอม

 

                                                                                        “ลำดวน หวนกลิ่นให้       หอมเอย

                                                          พี่ร่ำชมชิดเคย                       คู่เจ้า

                                                          งามหอมยิ่งทรามเชย              น้องพี่ หอมนวล

                                                                                  ใคร่คิดถึงยามเฝ้า                   บ่ร้างห่างไกล”

 

សូមអរគុណអ្នកខ្លាំងណាស់

กวีศิลป์ คำวงค์

 

เอกสารอ้างอิง

https://chanthol.wordpress.com/2009/01/16/%E1%9E%9A%E1%9F%86%E1%9E%8A%E1%9E%BD%E1%9E%9B-

          rumdul-mitrella-mesnyi-the-national-flower-of-the-kingdom-of-cambodia/

http://en.wikipedia.org/wiki/Sphaerocoryne_affinis

http://pyea-baalcambodia.blogspot.com/2012/03/rumdul-national-flower-of-kingdom-of.html

http://www.oppo.opp.go.th/pages/aboutus/aboutus_09.html

http://www.homedecorthai.com/articles/planting_flowers_lamdual_more_auspicious_day_to_life-92-256

http://www.dodeden.com/109543.html

http://manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9550000123219

http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9500000153028

http://www.voathai.com/content/cambodia-rice-pt/2549824.html

http://pantip.com/topic/33818059

http://dict.longdo.com/search/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%99

http://prajnatara79.blogspot.com/2014/11/blog-post_86.html

http://mis.hrdi.or.th/plant/shPlant.aspx?id=982

 

อ้างอิงรูป

http://pantip.com/topic/33818059

http://www.chomthai.com/forum/view.php?qID=1747

 
มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย