เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๖ (Ep. 1/3)

  • 08/12/2016
  • จำนวนผู้ชม 5,192 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๖ 
(Ep. 1/3)

ซิมปอร์ ดอกไม้ประจำชาติของบรูไนดารุสซาลาม

Simpor is the National Flower of Brunei Darussalam

 

                                                                                                                                                           "งาม ซิมปอร์ ดอก ส้าน    สัญลักษณ์
                                                                                                                       เหลืองอร่ามงามนัก    เพื่อนพ้อง
                                                                                                                                                     บรูไนอนุรักษ์    สรรพ คุณนา
                                                                                                                       ประโยชน์พืชถิ่นท้อง     สืบให้ยั่งยืน”

 

Selamat, apa khabar.

 

        บรูไนดารุสซาลามหรือ Negara Brunei Darussalam (Estado de Brunéi, Morada de la Paz) บรูไนเป็นประเทศที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว (Borneo Island) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยดินแดนของ 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (Sabah และ Sarawak) บรูไน (Brunei) และอินโดนีเซีย (Kalimantan) ซึ่งดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำประเทศบรูไนก็คือ “ดอกซิมปอร์” (Simpor Flower) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่า “ดอกส้าน”

          Simpor เป็นชื่อในภาษาพื้นเมืองที่ชาวบรูไนใช้เรียกดอกชนิดนี้ หรืออาจจะเรียกชื่ออื่น ๆ เช่น ‘Simpoh’ หรือ ‘Simpur’ ซึ่งเชื่อว่าชื่อ Simpoh น่าจะได้มาจากเสียงแซ่ ๆ โดยเสียงดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลำต้นหรือกิ่งก้านของ Simoh นั้น ถูกตัดขาดออกจากกัน (อาจจะต้องใช้หูแนบฟังกันเลยทีเดียว) ใบจะทำหน้าที่ดูดน้ำขึ้นกลับคืน ทำให้อากาศถูกดูดเพื่อเข้าไปแทนที่น้ำภายในท่อขนาดเล็ก ๆ ที่อัดอยู่กันแน่นภายใน จึงทำให้เกิดเสียงดังกล่าวขึ้น (Tan and Latiff, 2014)

          ซิมปอร์เป็นพืชที่พบได้โดยทั่วไปในประเทศบรูไน ในพื้นที่ที่ใกล้กับแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ พื้นที่ในป่าหรือขอบชายป่า ป่าพรุ ป่าชายเลน พื้นที่ระดับต่ำหรือพื้นดินที่เกิดจากการถมทะเล บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแม้กระทั้งบริเวณพื้นดินที่ถูกกัดเซาะพังทลาย ซิมปอร์สามารถเจริญเติบโตงอกงาม และดำรงชีวิตอยู่รอดได้ในถิ่นที่อยู่ที่มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลายได้ (Habitat Varieties) ด้วยเหตุนี้เองดอกซิมปอร์จึงถูกนำไปใช้เป็นสื่อทางสัญลักษณ์ อย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือรูปภาพดอกซิมปอร์นั้นปรากฏอยู่ด้านหน้าของธนบัตรฉบับละ 1 ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar; BND, B$) และนอกจากนี้ดอกซิมปอร์ยังได้รับเลือกให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีหรือองค์สุลต่านแห่งประเทศบรูไน เนื่องจากดอกซิมปอร์เป็นดอกไม้สีเหลืองที่มีความงดงามและทรงคุณค่าอันอเนกอนันต์ ดังจะเห็นได้จากธงประจำพระองค์ท่าน และธงชาติของประเทศบรูไน จะใช้สีเหลืองเป็นสีของพื้นธง ดังนั้น สีเหลือง* ของดอกซิมปอร์ดอกไม้ประจำชาติ สีเหลืองของธงชาติของประเทศบรูไน จึงเป็นดั่งสัญลักษณ์แทนพระองค์ สุลต่านแห่งประเทศบรูไน

          ก่อนอื่นใดขอมาทำความรู้จักกับเจ้าดอกไม้ชนิดนี้กันเสียก่อนนะครับ ซิมปอร์ เป็นพืชดอกที่จัดอยู่ในวงศ์ DILLENIACEAE และสกุล Dillenia ชื่อสกุลดังกล่าวให้ชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Johana Jacob Dillenius (ค.ศ. 1684-1747) นักพฤกษศาสตร์และแพทย์อายุรเวทชาวเยอรมัน นอกจากนี้ Dillenius ยังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) พืชในสกุล Dillenia เป็นพืชพื้นถิ่นที่พบได้โดยทั่วไปบริเวณพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตั้งแต่ประเทศมาดากัสการ์เรื่อยไปจนถึงประเทศฟิจิ ภูมิภาคเอเชียใต้ ออสตราเลเซีย (Australasia*) และเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย

          ลักษณะทั่วไป วิสัยเป็นไม้ยืนต้นหรือพบส่วนน้อยที่เป็นไม้พุ่ม เป็นไม้ไม่ผลัดใบหรือไม้ผลัดใบเป็นส่วนน้อย เปลือก สีแดง เทาหรือสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกสลับ ใบขนาดใหญ่ ดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มที่ปลายยอด ดอกขนาดใหญ่สีสันสดใส ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ (4-18 กลีบ) กลีบเลี้ยงมักจะคงรูปอยู่เมื่อกลายเป็นผล กลีบดอก 5 กลีบ (4-7 กลีบ) หรือไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านในจะมีอับเรณูยาวกว่าเกสรเพศผู้ที่อยู่ด้านนอก อับเรณูรูปทรงยาว ส่วนมากแตกเป็น 2 ช่อง ตรงส่วนปลาย หรือแตกเป็น 2 ร่องตามแนวยาวแต่มักพบได้เป็นส่วนน้อย เกสรเพศเมียส่วนฐานเชื่อมติดกันจำนวน 4–20 รังไข่ และเชื่อมติดกับฐานรองดอกรูปทรงกรวย รังไข่แต่ละห้องมีไข่อ่อน 1 หรือมากกว่า ผลเดี่ยวหรือผลกลุ่ม ถูกปกคลุมด้วยกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยส่วนที่สามารถนำมารับประทานได้คือ ส่วนของกลีบเลี้ยงที่คงรูปห่อหุ้มเมื่อกลายเป็นผล (ชูศรี, 2547) ผลแห้งแตกตามยาวของรอยประสานหรือไม่แตก เมล็ดอาจมีเพียง 1 เมล็ดหรือหลายเมล็ด และมีหรือไม่มีเยื้อหุ้มเมล็ด

          ในปัจจุบันนิยมปลูกซิมปอร์เป็นไม้ดอกไม้และไม้ประดับ เพื่อใช้ตกแต่งสถานที่หรือใช้ตกแต่งสวน ปลูกตามถนนหนทางต่าง ๆ เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายโดยปลูกจากเมล็ดหรือกิ่งตอน เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ติดดอกออกผลให้ชื่นชมได้ตลอดทั้งปี มีทรงพุ่มที่สวยงาม และนอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของซิมปอร์ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกอย่างหลากหลาย อาทิ

          - ซิมปอร์ ต้นซิมปอร์นับได้ว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

          - เนื้อไม้ซิมปอร์ เนื้อไม้ไม่นิยมนำมาใช้ประโยชน์มากนัก เนื่องจากมีลักษณะลำต้นที่บิดเบี้ยว และเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง ที่แข็งมาก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีที่ทำให้พืชชนิดนี้มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้อยใหญ่ชนิดต่าง ๆ พืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศน์

          - เนื้อไม้ซิมปอร์ เป็นแหล่งที่ให้สารแทนนินสูง (Dillenia indica L.)

          - เนื้อไม้ซิมปอร์ ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และงานตกแต่งอื่น ๆ (D. indica L. และ D. excels (Jack) Martelli ex Gilg.) (Tan, 2008)

          - เปลือกต้นซิมปอร์ มีรสฝาด ขม ใช้รักษาอาการท้องร่วง (D. ovata Wall. ex Hook. f. & Thomson) (Tan 2008) (D. grandifolia; synonym)

          - เปลือกต้นและผลซิมปอร์ มีสรรพคุณรักษาโรคท้องร่วง (D. excels (Jack) Martelli ex Gilg.) (Tan, 2008)

          - ยอดและใบอ่อนซิมปอร์ ใช้เป็นยาพอกปิดบาดแผล เพื่อห้ามเลือดและรักษาแผล

          - ใบซิมปอร์ มีขนาดใหญ่ ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมใช้ห่อหุ้มอาหาร จนกระทั้งปัจจุบันความนิยมดังกล่าวได้เปลี่ยนไป กระดาษและถุงพลาสติกกลับได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ถึงกระนั้นอาหารพื้นเมืองอย่างเช่น เทมเป้ (Tempeh*) ข้าวหมาก (Tapai* หรือ tape) และเมนูปลาอย่าง Pais* ชาวบ้านยังคงนิยมใช้ใบซิมปอร์ห่อหุ้มอาหารพื้นเมืองดังกล่าวเช่นเดิม หรือใช้ห่อข้าว ห่อกับข้าว เพื่อนำไปรับประทานระหว่างวัน เพราะสะดวกและง่ายสำหรับการพกพา

          - ใบซิมปอร์ นำมากลัดเป็นกระทงหรือกรวยก้นตื่น ๆ ใช้แทนจานเพื่อใส่อาหารพื้นเมืองที่ประกอบและปรุงอย่างง่าย ๆ หรือใช้เสิร์ฟสำหรับเมนูจานด่วน เช่น โรจัก (Rojak*) นาซิเลอมัก (Nasi lemak*) เป็นต้น

          - ใบซิมปอร์ ที่เจริญเติบโตเต็มที่หรือใบแก่นั้น ภายในเนื้อเยื้อของใบจะประกอบด้วยซิลิกาที่ถูกเก็บสะสมไว้ ใบซิมปอร์จึงนำมาใช้แทนกระดาษทรายได้ และใช้ขัดพื้นผิวฟันบริเวณที่อุดทำฟันให้เรียบอีกด้วย

          - ใบซิมปอร์ นกกระจิบ (Tailorbirds) พวกมดและแมลงชนิดต่าง ๆ มักจะใช้เพื่อสร้างรัง

          - ยอด ใบอ่อน ดอกและผลซิมปอร์ รับประทานได้ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์มีเท้ากีบ และสัตว์จำพวกไพรเมต รวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน

          - กลีบเลี้ยงของดอกซิมปอร์ ใช้สำหรับปรุงรสอาหาร (D. ovata Wall. ex Hook. f. & Thomson) (Tan, 2008) (D. grandifolia; synonym)

          - ผลดิบซิมปอร์ รับประทานสด ปรุงเป็นผักดองหรือใส่เป็นผักในแกงเผ็ด และใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำชัทนีย์ (Chutney*) (D. indica L.) (Tan, 2008)

          - เนื้อในผลซิมปอร์ น้ำคั้นมีกลิ่นหอม ความเป็นกรดสูง และใช้ทำแยมผลไม้รับประทานได้ สรรพคุณใช้รักษาอาการไอ และสารสกัดที่ได้จากผลเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ (D. indica L.) (Tan, 2008)

          - เมล็ดซิมปอร์ เป็นอาหารของนกหลายชนิด เนื่องจากเมล็ดมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด มีความโดดเด่นสะดุดตาอันไม่อาจต้านทาน และดึงดูดความสนใจของนกชนิดต่าง ๆ ได้ นกเหล่านี้จึงเป็นผู้ช่วยชั้นดีเยี่ยม เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพัดพาเอาผลและเมล็ดที่ล่วงหล่นไปพร้อมกับกระแสน้ำยังเป็นตัวช่วยการกระจายพันธุ์ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากต้นซิมปอร์ส่วนใหญ่มักเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

          - ซิมปอร์ ยังใช้สำหรับพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนงานที่เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การออกแบบงานฝีมือของผู้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ชาวบรูไนยังนิยมนำดอกซิมปอร์ดอกไม้ประจำชาติมาใช้เพื่อสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ โดยผ่านรูปภาพดอกซิมปอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับใช้เป็นตัวแทนของประชาชนและประเทศบรูไน มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานร่วม 20 ปี

 

ได้แนะนำให้รู้จักดอกซิมปอร์ ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของบรูไน ความสำคัญและการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รอติดตาม ดอกซิมปอร์สื่อสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความเป็นบรูไนต่อได้ใน Ep. 2/3 นะครับ

กวีศิลป์ คำวงค์

*อภิธานศัพท์; Glossary

ซอสมันกุ้ง           เรียกว่า “แฮโกว” (Haeko-มาเลเซีย) หรือ “ปาติส” (Patis-อินโดนีเซีย) มีส่วนผสมคือ พริกป่น น้ำตาลทรายแดง กะปิ น้ำมะขามเปียก ถั่วลิสงคั่วบด
                           งาคั่ว และมันกุ้งใต้ ซึ่งทำจากมันกุ้งเคี่ยวจนเหนียว

สีเหลือง              วัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สีเหลืองได้รับการยกย่องให้เป็นสีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า เป็นสีประจำ
                           สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น
                           ในประวัติศาสตร์จีน สีเหลืองเป็นสีต้องห้าม เนื่องจากเป็นสีประจำของฮ่องเต้และพระราชวงศ์
                           ในประเทศมาเลเซียสีเหลืองในธงชาติหมายถึงพระประมุขและการปกครองในระบอบกษัตริย์
                           ในประเทศไทยสีเหลืองเป็นสีประจำราชจักรีวงศ์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ
                           ในประเทศบรูไนควรที่จะหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเหลือง เพราะถือว่าเป็นสีสำหรับพระราชาธิบดีหรือองค์สุลต่านแห่งประเทศบรูไน

Australasia       ออสตราเลเซีย คือ ชื่อที่ใช้เรียกภูมิภาคโอเชียเนีย ประกอบด้วยดินแดนของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะใกล้เคียงใน
                          มหาสมุทรแปซิฟิก

Batik                 เรียกว่า “ผ้าบาติก” เป็นเทคนิคการย้อมสีสิ่งทอด้วยมือ โดยใช้ขี้ผึ้งเหลวเป้นตัวปกคลุมส่วนที่ไม่ต้องการให้ย้อมติดสี

Chutney            เรียกว่า “ชัทนีย์” เป็นเครื่องปรุงรส ที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียตะวันตก วัตถุดิบประกอบด้วย ผัก ผลไม้ สมุนไพรและเครื่องเทศ ปรุงรสด้วยน้ำตาลและ
                           น้ำส้มสายชู มีรสหวาน เปรี้ยว และเผ็ดร้อน

Nasi lemak        เรียกว่า “นาซิ ลอมัก” เป็นชื่อเมนูอาหารของชาวมลายูที่ทำจากข้าวหุงด้วยน้ำกะทิและใบเตยหอม ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมอร่อยน่ารับประทาน ถือว่าเป็น
                           อาหารเช้าตามแบบอย่างของชาวมลายูที่นิยมทานกับกับข้าวหรือเครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น น้ำพริกและผักเคียง แกงเนื้อ ไก่ทอด เป็นต้น

Pais                   ชื่อเมนูอาหารประเภทปลาที่หมักด้วยซอสหรือเครื่องเทศต่าง ๆ แล้วจึงห่อด้วยใบซิมปอร์ ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในประเทศบรูไน

Rojak                เรียกว่า “รอเยาะ โรจัก หรือโรจ๊าก” เป็นชื่อเมนูอาหารพื้นเมืองในประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ คนไทยนิยมเรียกชื่อเมนูอาหาร
                          ชนิดนี้ตามลักษณะ และรสชาติที่เคยได้ลิ้มลองว่า “สลัดผลไม้หรือผลไม้น้ำปลาหวาน” ส่วนประกอบหลักเป็นผลไม้ที่มีเนื้อกรอบหั่นเป็นชิ้นพอคำ
                           ราดด้วยซอสมันกุ้ง* โรยหน้าด้วยเต้าหูทอดหรือบางพื้นที่อาจโรยหน้าด้วยปาท่องโก๋ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

Tapai                หรือ Tape เรียกว่า “ทาไปหรือทาเป” เป็นชื่อเมนูอาหารทานเล่นที่คนไทยเรียกว่า “ข้าวหมาก” ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก ผสมด้วยลูกแป้งหรือยีสต์
                         (dried yeast) น้ำตาล ห่อด้วยใบซิมปอร์ หรือนำข้าวเหนียวแตะน้ำที่ผสมลูกแป้งและเกลือ ปั่นเป็นก้อนเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ตั้งทิ้งไว้
                         ประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงนำมารับประทานได้
                         ในประเทศเวียดนามจะเรียกว่า “เกิ่มโร่ะเหมียนนาม” (Com Ruou Mien Nam) ส่วนในประเทศกัมพูชาจะนิยมใช้ข้าวเหนียวดำแทน
                         Tapai จะมีรสหวาน ปนรสซ่าที่เกิดจากการหมัก นอกจากนี้ยังใช้เป็นวัตถุดิบต้นกำเนิดสำหรับผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Rice Wine)
                         เมื่อหมักต่อในระยะเวลาที่นานขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะได้เหล้าพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปในวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ เช่น
                         ประเทศไทยจะเรียกว่า “สาโท” ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกว่า “สาเก” ส่วนในประเทศเกาหลีจะเรียกว่า “มักโกลี” เป็นต้น

Tempeh            เรียกว่า “เทมเป้” ชื่อเมนูอาหารพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซียที่ทำจากถั่วเหลืองหมัก แล้วจึงนำไปทอดให้กรอบ

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย