เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๖ (Ep. 3/3)

  • 08/12/2016
  • จำนวนผู้ชม 2,496 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๖
(Ep. 3/3)

ซิมปอร์ ดอกไม้ประจำชาติของบรูไนดารุสซาลาม

Simpor is the National Flower of Brunei Darussalam

 

จากบทความเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๖ (Ep. 2/3) มาติดตามบทสรุปของดอกซิมปอร์ ดอกไม้ประจำชาติของบรูไนดารุสซาลามกันต่อได้เลยครับ

 

          ในประเทศบรูไนมีพืชสกุล Dillenia ที่นักพฤกษศาสตร์สำรวจพบทั้งหมด จำนวน 9 ชนิด โดยเป็นชนิดพื้นถิ่น จำนวน 8 ชนิด และอีกชนิดนำเข้ามาจากต่างถิ่น ได้แก่

          1. D. beccariana Martelli                                  River Simpor (English), Buan (Brunei : Iban)

          2. D. borneensis Hoogland                              Ubah rusa (Brunei : Iban)

          3. D. excels (Jack) Martelli ex Gilg.                   Simpur laki

          4. D. grandifolia Wall. ex Hook. f. & Thomson Simpoh Daun Merah

          5. D. pulchella (Jack) Gilg.                               Simpoh, Simpoh paya

          6. D. reticulata King                                        Simpur Gajah

          7. D. suffruticosa (Griff.) Martelli                      Bunga Simpur

          8. D. sumatrana Miq.                                      Simpur laki, Peru (Brunei : Iban) และ

          9. D. indica L.                                                 Elephant Apple (English) เป็นพืชนำเข้าจากต่างถิ่น

 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีพืชพื้นถิ่นที่ถูกเรียกชื่อและหมายถึงดอก “ซิมปอร์” มากถึง 7 ชนิด หรืออาจเป็นไปได้ว่าแท้จริงแล้วดอกซิมปอร์ที่หมายถึงดอกไม้ประจำประชาติบรูไนนั้น จะหมายถึงพืชในสกุล Dillenia ที่เป็นพืชพื้นถิ่นของประเทศบรูไน ยกเว้นก็เสียแต่ชนิด D. borneensis : Ubah rusa ซึ่งเป็นพืชที่หายากชนิด หนึ่งของประเทศบรูไน และชื่อ Ubah rusa ที่ใช้เรียกชื่อพืชชนิดดังกล่าวนั้นเป็นของชนเผ่าพื้นเมืองอีบัน (Iban) และชนิด D. indica: Elephant Apple ซึ่งเป็นพืชนำเข้าจากต่างถิ่น หรืออาจจะหมายถึงซิมปอร์เพียงแค่ 3 ชนิด ที่มีการกล่าวอ้างถึงและได้ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้น ได้แก่

         1. RIVER SIMPOR         (D. beccariana Martelli)

         2. SIMPUR GAJAH         (D. reticulata King) และ

         3. BUNGA SIMPUR        (D. suffruticosa (Griff.) Martelli)

 

1. River simpor (ภาษาอังกฤษ) โดยชาวชนเผ่าพื้นเมืองอีบัน (Iban) เรียกว่า ‘Buan’ เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic species, endemism) บนเกาะบอร์เนียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dillenia beccariana Martelli โดยชื่อชนิด beccariana ให้ชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Odoardo Beccari นักธรรมชาติวิทยาชาวอิตาลี (ค.ศ. 1843–ค.ศ. 1920)

        ลักษณะเฉพาะ วิสัยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทุกส่วนของกิ่งก้านและใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม ใบรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 12 ยาวประมาณ 30 ซม. ปลายใบค่อนข้างกลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื้อย มีเส้นใบที่อยู่เป็นคู่ขนานจำนวน 20-30 คู่ เห็นได้อย่างเด่นชัดด้านท้องใบ ก้านใบยาว 3-6 ซม. ปีกของก้านใบไม่เชื่อมกับตัวฐานใบ ดอกสีเหลืองสดใส ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6.5 ซม. ผลกลม ผลแก่และแตกออกรูปทรงคล้ายดาวจำนวนหลายแฉก เนื้อผลสีขาวเผยให้เห็นเมล็ดที่ถูกปกคลุมด้วยเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง โดยทั่วไปตามสภาพธรรมชาติจะพบเจริญเติบโตบริเวณแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวและลาดเอียงไปยังพื้นที่ลุ่มของแม่น้ำ ในประเทศบรูไนพบได้บริเวณ
            เขต Temburong พบได้ตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำ Temburong ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยาก ถ้าหากเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติ Ulu Temburong โดยทางน้ำ และพบได้ในพื้นที่หุบเขา Batu Apoi
          เขต Tutong พบบริเวณพื้นที่เขื่อน Ulu Tutong และพื้นที่โดยรอบทะเลสาบ Tasek Merimbun ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศบรูไน นอกจากจะพบขึ้นตามบริเวณพื้นที่แหล่งน้ำแล้ว ยังพบในพื้นที่บริเวณอื่น ๆ ได้อีกด้วย แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
           การใช้ประโยชน์จาก River simpor โดยทั่วไปเหมือนพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันนี้ ที่พบในประเทศบรูไนดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

 

2. SIMPUR GAJAH หรือ ส้านมลายู (ภาษาไทย) นอกจากนี้ยังมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ที่ใช้เรียกส้านมลายู เช่น Beringin, Simpoh, Simpur, Tempuran (Borneo Island) หรือ Pokok Simpoh Gajah Simpor pay และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dillenia reticulata King โดยชื่อชนิด reticulata เป็นคำในภาษาละตินว่า ‘reticulate’ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า ‘net-veined หรือ venation หมายถึงรูปแบบการเรียงตัวของเส้นใบสานกันแบบร่างแห่

          ลักษณะเฉพาะชนิดของส้านมลายูเป็นไม้ยืนต้นสูงได้มากกว่า 60 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ มักจะมีรากค้ำยันถ้าเกิดในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำขัง ไม่มีหูใบ ใบรูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 10-20 ซม. และยาวประมาณ 15-30 ซม. ปลายใบค่อนข้างกลมและมีปลายแหลมเล็กน้อย ขอบใบหยักแบบฟันเลื้อย มีเส้นใบที่อยู่เป็นคู่ขนานจำนวน 25-35 คู่ ด้านท้องใบมีขนนุ่นปกคลุมโดยทั่ว ก้านใบยาว 4-10 ซม. ฐานใบกว้าง รูปรี กลมหรือรูปหัวใจ ดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 5-10 ดอก กลีบดอกสีเหลือง ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 ซม. ผลค่อนแบนถึงทรงกลม สีเขียวปนเหลือง ถูกห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ผลแก่ไม่แตก เนื้อผลฉ่ำน้ำ เมล็ด 1-3 เมล็ด ที่ปกคลุมด้วยเยื่อหุ้มเมล็ด โดยทั่วไปแล้วตามสภาพธรรมชาติจะพบขึ้นในพื้นที่บริเวณป่าลึก บริเวณที่ไม่ค่อยถูกรบกวน รวมถึงป่า kerangas ซึ่งเป็นภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองอีบันในประเทศบรูไน (Brunei: Iban) หมายถึงดินแดนที่ซึ่งต้นข้าวไม่สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ ในท้องถิ่นพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่เป็นดินทรายบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภายในป่าสงวน Andulau (Andulau Forest Reserve) เขต Belait และในเขต Ulu Belait และสามารถที่จะเจริญเติบโตในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นทรายหรือเป็นดินเหนียวได้

          การใช้ประโยชน์จากส้านมลายู โดยทั่วไปเหมือนพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันนี้ ที่พบในประเทศบรูไนดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว และเนื้อไม้ส้านมลายู ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และงานตกแต่งอื่น ๆ (Tan and Latiff, 2014)

 

3. Bunga Simpur หรือ Simpor bini (ภาษามลายู) มีชื่อเรียกขานนามที่มีความหลากหลายไปตามในแต่ละพื้นที่ที่พบเจอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรณพืชชนิดนี้มีการกระจายตัวอย่างกว้างขวาง และสามารถเจริญเติบโตได้ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ

          ไทย                                       ส้านยะวา ส้านชวา (กรุงเทพมหานคร)

          กัมพูชา                                  Plo sbat

          ฟิลิปปินส์                               Ornamental Katmon

          อินโดนีเซีย                             Abuan, Bunga-Bunga sempur air, Simpoh

          มาเลเซีย                                Simpoh air, Simpor bini, Simpoh gajah

          บรูไน                                      Bunga Simpur, Simpor, Simpor bini, Simpur

          ชนเผ่าพื้นเมืองอีบัน                 Simpor Bini Buan, Buan (Brunei: Iban)

          ชนเผ่าพื้นเมืองมูรุต                  Tegering abai (Brunei: Murut)

          ชนเผ่าพื้นเมืองเบอเละ              Dingrng kala’o (Brunei: Belait)

 

         Bunga Simpur หรือส้านยะวา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตภูมิภาคมาเลเซีย พืชพื้นถิ่นทางภาคตะวันตกของประเทศมาเลเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dillenia suffruticosa (Griff.) Martelli โดยชื่อชนิด suffruticosa เป็นคำในภาษาละตินหมายถึงคล้ายกับไม้พุ่ม (shrubby หรือ shrub–like)

          ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Shrubby Dillenia, Shrubby Simpoh, Shrubby Simpohlenia, Simpoh Air และ Simpoh Ayer

          ลักษณะเฉพาะชนิดของส้านยะวาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เปลือกสีม่วงดำ ทุกส่วนของพืชไม่มีขน ใบรูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 15 ซม. และยาวประมาณ 35 ซม. ใบเหนียวคล้ายหนัง ปลายใบค่อนข้างกลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื้อย มีเส้นใบที่อยู่เป็นคู่ขนานจำนวน 12-20 คู่ เห็นได้อย่างเด่นชัดด้านท้องใบ ก้านใบยาวถึง 6 ซม. ฐานใบแผ่เป็นแผ่นยกตัวสูงขึ้นเล็กน้อยทำให้มีลักษณะเป็นร่องยาวต่อลงไปถึงก้านใบ ดอกสีเหลืองสดใส ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 ซม. ผลกลม เมื่อสุกสีส้มแดง ผลแก่และแตกออกรูปทรงคล้ายดาวจำนวนหลายแฉก เนื้อในผลสีชมพูถึงสีแดง เผยให้เห็นเมล็ดจำนวนมากที่ถูกปกคลุมด้วยเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

          ดอกบานในช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงเช้าตรู่ แล้วจึงหลุดร่วงในหนึ่งวัน แม้จะไม่มีโครงสร้างเพื่อสร้างต่อมน้ำหวานและกลิ่นเพื่อดึงดูดแมลง แต่ก็มีแมลงจำนวนไม่น้อย ที่แย่งชิงกันเป็นผู้ช่วยผสมเกสร เช่น พวกผึ้ง แมลงวัน และแมลงเต่าทองขนาดเล็ก ๆ ดอกเกือบทั้งหมดจะติดผล และผลจะถูกห่อหุ้มเอาไว้ด้วยกลีบเลี้ยงคล้ายกับดอกตูม วิธีการใช้แยกแยะความแตกต่างดังกล่าวนั้น ให้สังเกตว่าทิศทางของฐานรองดอกชี้ไปทางใด ถ้าเป็นดอกตูม (flower bud) จะชี้ดอกตูมลง ส่วนถ้าเป็นการติดผล
(fruit bud) จะชี้ผลขึ้น เมื่อเจริญเติบโตอายุได้ประมาณ 3 ถึง 4 ปี จะเริ่มให้ดอกติดผล และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 50 ถึง 100 ปี

         โดยธรรมชาติทั่วไปส้านยะวาจะพบขึ้นอยู่อย่างมากมายบนพื้นที่ที่ถูกทำให้เสื่อมโทรม พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ พื้นที่ที่ถูกเปิดโล่งหรือพื้นที่ที่มีดินเลว พื้นที่ป่าที่กำลังจะเริ่มฟื้นฟูตัวเองเพื่อกลับเป็นป่าใหม่อีกครั้ง (Secondary forest) พบตามพื้นที่ชายขอบของผืนป่า พบตามบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ บนพื้นที่หาดทรายขาว (White sand) ซึ่งเมล็ดพันธุ์ของพืชชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะงอกและเจริญเติบโตมีชีวิตอยู่รอดได้

        ส้านยะวามีฐานนะเป็นผู้ให้ที่สำคัญในระบบนิเวศน์ ทั้งเป็นพืชอาหาร และเป็นที่สำหรับพักพิงกำบังหลบแดดร้อน หนาวลมฝนของสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ต่าง ๆ และยังเป็นพืชชนิดเบิกนำหรือพืชบุกเบิก (Pioneer species) พื้นที่ที่เสื่อมโทรมจากการทำลายผืนป่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีระบบรากที่หยั่งลึกลงไปในดินเพื่อเสาะแสวงหาแหล่งน้ำใต้ดิน และยังให้ร่มเงากับเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าไม้ของพืชพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังงอกงาม ให้มีความแข็งแรง และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นบริเวณดังกล่าวกล้าไม้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นและกลายเป็นผืนป่าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในที่สุด

          การใช้ประโยชน์จากส้านยะวา โดยทั่วไปเหมือนพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันนี้ ที่พบในประเทศบรูไนดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว และส้านยะวายังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อาทิ

          - รากและใบส้านยะวา มีสรรพคุณต่อต้านการอักเสบ ใช้รักษาอาการคันจากเชื้อรา และยังช่วยให้ผู้หญิงหลังคลอดบุตรฟื้นฟูร่างกายให้คืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว

          - ยอดและใบอ่อนส้านยะวา จะมีสีแดงใช้เป็นยาพอกสำหรับปิดบาดแผล เพื่อห้ามเลือดและรักษาแผล (บรูไน) มีสรรพคุณรักษาอาการไข้ นอกจากนี้ยังนำมารับประทานได้

          - ใบส้านยะวา สารสกัดที่จากใบส้านยะวามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อรา (Tan, 2008)

          - ดอกส้านยะวา นิยมใช้สำหรับตกแต่งในงานมงคลต่าง ๆ และยังใช้เป็นต้นแบบในงานศิลปหัตถกรรมหรืองานฝีมือพื้นบ้านแต่ดั่งเดิมอย่าง Ayer Muleh
            (‘Ayer Muleh’ Design) ซึ่งเป็นศิลปะการออกแบบที่เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ของชาวบรูไน (Bruneian Art) ที่นิยมใช้ดอกส้านยะวาเป็นต้นแบบ ปัจจุบันอาจใช้
            การพิมพ์รูปแบบต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้อย่างสวยงามและมีความหลากหลาย ซึ่งสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

          - เนื้อในผลส้านยะวา ใช้ทำความสะอาดเส้นผม (บรูไน)

ชิ้นส่วนของส้านยะวาที่ใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคนั้น มีหลักฐานผลการศึกษาวิจัยและทดลองที่ได้จากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สามารถต้านทานจุลชีพ เชื้อรา มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณสมบัติต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

 

ส้านยะวา ในประเทศใกล้เคียง อาทิ

Indonesia : Abuan, Bunga-Bunga sempur air และ Simpoh

      ส้านยะวา ใบส้านยะวาสามารถเก็บมาขายเพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากในหมู่เกาะเบลีตุง (Belitung) นิยมนำใบส้านยะวาห่อหุ้มหรือบรรจุอาหาร แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่จำนวนส้านยะวาภายในเกาะได้ลดลงอย่างมาก จะคงเหลืออยู่แต่ในพื้นที่ป่าที่ไกลออกไปจากหมู่บ้านหรือเขตชุมชน

         อาชีพที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่งก็คือการทำงานศิลปหัตถกรรมอย่างเช่น ผ้าบาติก ชาวบ้านจะคิด จะวาด จะเขียนรูปภาพและออกแบบลวดลายต่าง ๆ อันได้แรงบันดาลใจจากต้นส้านยะวา ไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบหรือดอกที่ต่างมีรูปทรงและสีสันที่สวยงาม จนได้เป็นผ้าบาติกที่มีลวดลายและสีสันต่าง ๆ อย่างสวยงาม เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในนาม ‘Batik* Simpor, Belitung Style’ และเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่นักท่องเที่ยวที่ได้แวะเวียนมาที่เกาะเบลีตุงแห่งนี้ ที่ต้องเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ที่สำคัญต้องไม่พลาดที่จะได้ลิ้มลองรสชาติอาหารพื้นเมืองที่แสนอร่อย และที่เห็นน่าจะพิเศษไปมากกว่านั้นก็คือการใช้ใบส้านยะวาบรรจุหรือห่อหุ้มอาหารมาบริการให้ท่านทั้งหลายได้สัมผัสกับกลิ่นอายความเป็นอาหารพื้นถิ่นอย่างแท้จริง

 

Singapore : Simpor

          ส้านยะวา ต้นส้านยะวาเป็นพืชพื้นถิ่นของสิงคโปร์ และนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับโดยทั่วไป

 

Sri Lanka : දියපර, ගොඩපර, Diyapara, godapara และ para

          ส้านยะวา ไม่ใช่ไม้พื้นถิ่นของประเทศศรีลังกา นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับโดยสวนพฤกษศาสตร์ Peradeniya ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และเกิดการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ส้านยะวาอยู่ในฐานนะเป็นวัชพืชที่รุกรานอย่างมาก (highly invasive weed) ในพื้นที่บริเวณฝั่งแม่น้ำ ชายป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามริมถนนหนทาง และพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำที่ถูกทิ้งให้รกร้างทั่วไป

         

          ไม่ว่าชาวบรูไนจะกำหนดให้ดอกไม้ประจำชาติของตนเป็นดอกซิมปอร์ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตามหรืออาจจะเป็นเพียงแค่ดอกซิมปอร์ 3 ชนิดนี้ ที่ถูกกล่าวอ้างถึง และมีข้อมูลความเกี่ยวโยงในฐานนะเป็นดอกไม้ประจำชาติ หรืออาจจะเป็นดอกซิมปอร์ทั้งหมด ทั้ง 7 ชนิด ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นของประเทศบรูไนให้เป็นดอกซิมปอร์ดอกไม้ประจำชาติของบรูไน ที่เป็นดั่งตัวแทน เป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจในความเป็น ‘Negara Brunei Darussalam’

          มาถึงตอนนี้ ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยนะครับ ว่าทำไมชาวบรูไนจึงได้เลือกให้ซิมปอร์ ดอกไม้สีเหลืองสดใสเป็นดอกไม้ประจำชาติ เพราะนอกจากความสวยงามอันได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว อรรถประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมาย สรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ต่างได้พึ่งพิงอิงแอบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์ใหญ่น้อยชนิดใด หรือหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลาย หรือแม้กระทั้งพรรณไม้นานาชนิด ต่างก็ได้รับประโยชน์จากซิมปอร์โดยทั่วถ้วนกัน ตั้งแต่รากที่มีความแข็งแรงและหยั่งลึกลงไปเพื่อเสาะแสวงหาแหล่งน้ำใต้ดิน ลำต้น กิ่งก้านสาขาที่ได้พักพิงให้ได้หลบร้อนหนาว ใบ ดอก ผลแลเมล็ดล้วนแล้วแต่ยังประโยชน์ให้ทั้งสิ้น แม้แต่ร่มไม้เงาใบของซิมปอร์เล่า ก็ได้ช่วยเกื้อกูล เลี้ยงดูป้องปกเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ของพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เพื่อรอวันเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตและอยู่รอดได้ด้วยตนเอง ซิมปอร์เป็นพันธุ์ไม้ที่สุดแสนพิเศษอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านและเพื่อนพ้องทั้งหลายของท่านต่างมีชีวิตยืนหยัดอยู่เพื่อเป็นผู้ให้สำหรับทุกสรรพสิ่งในระบบนิเวศน์อย่างแท้จริง

 

                                                                                                                                                            งามสง่าคุณค่าไม้
   รักษา
                                                                                                                                                  ส้าน ดอก ซิมปอร์ นา
   แต่ต้น
                                                                                                                     รากใบอ่อนปรุงยา  
   พื้นถิ่น
                                                                                                                     ผลเมล็ดสร้างป่าล้น
   จึ่งได้พักพิง”
 

Sampai jumpa lagi.

กวีศิลป์ คำวงค์

 

เอกสารอ้างอิง

 

ชูศรี ไตรสนธิ. 2547. อนุกรมวิธานของพืชดอก เล่ม 1 สัณฐานวิทยาและวงศ์ของไม้ผล. ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
          จังหวัดเชียงใหม่.

ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี (บรรณาธิการ). 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. สำนักงานหอพรรณไม้
          สำนักวิจัยการอนุรักษ์ ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพมหานคร.

Engel, David H. & Suchart Phummai. 2007. A Flield Guide to Tropical Plants of Asia. Marshall Cavendish Editions. Singapore.

Tan, A. L. and Latiff A. 2014. A taxonomic study of Dillenia L. (Dilleniaceae) in Peninsular Malaysia. Malayan Nature Journal 66(3), 338-353.

 

เวปไซต์อ้างอิง

 

Tan, A. L. 2008. Ethnobotanical Usage of ‘Simpoh’ and Their Identification. Medicinal Plants Programme, Forest Research Institute Malaysia
          (FRIM), 52109 Kepong. Selangor. Malaysia. http://simpoh.blogspot.com/

http://biodiversityofsrilanka.blogspot.com/2011/06/diyaparagodaparadillenia-suffruticosa.html

http://bruneiresources.blogspot.com/2009/09/bruneis-national-flower.html

http://documents.mx/documents/bunga-simpur.html

https://en.wikipedia.org/wiki

https://ictscience.files.wordpress.com/2011/09/the-simpur-story1.pdf

https://kwgls.wordpress.com/category/plant-plant-plants/national-flower-series/page/2/

http://memim.com/dillenia.html

https://sipakurau.wordpress.com/2013/07/15/bunga-simpur-dillenia-suffruticosa/?fb

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย