เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (Ep. 1/4)

  • 15/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 2,592 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙
(Ep. 1/4)

มะลิ ดอกไม้ประจำชาติของฟิลิปปินส์

Sampaguita is the National Flower of Philippines

 

                                                                                                                                                           “งามดอกประดับไม้
     Sampaguita
                                                                                                                                               งามดอก มะลิลา
     คู่เคี้ยง
                                                                                                                                               งามพรรณช่อพฤกษา
     หอมกลิ่น กรุ่นนา
                                                                                                                                               งามบริสุทธิ์ค่าเพี้ยง
     ผูกไว้ชาติชน”  
                  

Ikinagagalak kong makilala ka muli

 

          สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines; Republika ng Pilipinas) ประเทศที่ได้รับสมญานามว่า “ดินแดนแห่งหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก” ด้วยเหตุที่ประเทศฟิลิปปินส์มีจำนวนเกาะมากกว่า 7,000 เกาะ และตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเกาะขนาดใหญ่จำนวน 11 เกาะ ซึ่งมีพื้นที่รวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด (ประมาณ 298,170 ตารางกิโลเมตร) และในบรรดาเกาะทั้งหมดเหล่านี้มีเกาะที่มีคนอาศัยอยู่ราว 900 เกาะเท่านั้น เกาะที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ทางทิศเหนือ คือ หมู่เกาะลูซอน (Luzon) เกาะตอนกลางของประเทศ คือ หมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) และที่อยู่ทางทิศใต้ คือ หมู่เกาะมินดาเนา (Mindanao) หมู่เกาะในประเทศฟิลิปปินส์ตั้งอยู่บนเขตวงแหวนแห่งไฟ (Pacific Ring of Fire) ซึ่งเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้งที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์เป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของตะวันตกและวัฒนธรรมของตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสเปน จีน และสหรัฐอเมริกัน เพื่อที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวตนอย่างแท้จริงของชาวฟิลิปปินส์ จึงมีแนวความคิดที่จะกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ที่นิยมกันในขณะนั้น ซึ่งจะใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสื่อกลางสำหรับบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของชาวฟิลิปปินส์และของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเลือกใช้สัญลักษณ์ที่มีความหมาย สามารถแสดงออกถึงเอกลักษณ์ และเผยแพร่ให้นานาประเทศได้รู้จักดินแดนแห่งหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกให้มากยิ่งขึ้น

          ในปี ค.ศ. 1934 รัฐบาลของ Frank Murphy (ค.ศ. 1890-1949) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งในฐานะผู้สำเร็จราชการคนสุดท้ายของประเทศฟิลิปปินส์จากสหรัฐอเมริกา (Governor-General of the Philippines, ค.ศ. 1933-1935) อ้างตามประกาศของฝ่ายบริหาร หมายเลข 652 โดย American Governor-General Frank Murphy ซึ่งกำหนดให้ Sampaguita Jasmine (Arabian Jasmine) เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ (Pambansang Bulaklak : Sampaguita) ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1934 โดยผู้สำเร็จราชการ Frank Murphy ได้สรุปใจความสำคัญไว้ ดังนี้

 

 ....“Considering its popularity, ornamental value, fragrance and the role it plays in the legends and traditions of the Filipino people, I hereby declare the sampaguita to be the national flower of the Philippine Islands. Done at the City of Manila, this first day of February, in the year of our Lord, nineteen hundred and thirty four.”...

 

นอกจากนี้ในประกาศฉบับดังกล่าวยังระบุให้ ‘Narra’ (Philippine mahogany) หรือประดู่อังสนา (Pterocarpus indicus Willd.) เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ (Pambansang Puno : Narra) อีกด้วย

 

             Sampaguita Jasmine หรือดอกมะลิ ดอกไม้สีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ดอกมีขนาดเล็ก สวยงาม และมีกลิ่นอันหอมหวาน ดอกมะลิจะผลิบานในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งยิ่งทำให้มีกลิ่นหอมที่แรงมากยิ่งขึ้น แต่ดอกมะลิจะอยู่ได้เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็จะแห้งเหี่ยวเฉาไป มะลิเมื่อเวลาที่ดอกบานมีรูปทรงคล้ายดวงดาว Sampaguita Jasmine ยังมีชื่อเรียกในภาษาอื่น ๆ อีกมากหลาย อาทิ เช่น

Arabic - Full (فل)

Bengali - Bel หรือ Beli (বেলীফুল)

Catalan - Xamelera

Cebuano - Manol

Chamorro - Sampagita

Chinese - Mo Li Hua (茉莉花)

English - Arabian jasmine, Hawaiian Peacock Jasmine, Midnight Jasmine, Pikake, Sambac Jasmine, Sampaguita และ Tuscan jasmine

Greek - Fouli (Φούλι)

Gujarati - Mogro

Hawaiian - Pikake

Hindi และ Marathi - Moghrā (मोगरा)

Indonesian - Melati Putih

Iraq - Razqi (رازقي)

Japanese - Matsurika (茉莉花 และ まつりか)

Kannada - Dundu Mallige

Khmer - Mlis (ម្លិះ)

Konkani - Mogare

Malay - Melur และ Melati

Malayalam - Koda Mulla (കൊട മുല്ല)

Manipuri language - Kundo

Marathi - Mogara (मोगरा)

Oriya - Juhi Mahli (ଜୁହି ମହ୍ଲି)

Persian - Yasmeen

Prakrit - Malliā

Punjabi - Motiya (موتیا)

Sanskrit - Malati (मालती) และ Mallika (मल्लिका)

Sinhala - Saman (සමන්), Gaeta Pichcha และ Sithapushpa

Spanish (Caribbean) - Jazmín

Tahitian, Māori และ Marquesan - Pitate

Tamil - Malligai (மல்லிகை) และ Kundumalli (குண்டுமல்லி)

Telugu - Mallepuvvu, Mallika และ Malliya

Thai - Malila (มะลิลา)

Turkish - Ful

Urdu - Yasmeen และ Motiya (موتیا)

Vietnamese - Hoa Nhài/Lài (花莉/)

ฯลฯ

(อ้างอิง : https://en.wikipedia.org/wiki/Jasminum_sambac)

 

        คำว่า ‘Sampaguita’ เป็นภาษาสเปนที่ใช้กันในประเทศฟิลิปปินส์ (Filipino และ Philippine Spanish) หรือภาษาตากาล็อก (Tagalog) ซึ่งหมายถึงดอกมะลิ มะลิลาหรือ Jasmine ชื่อพรรณไม้ที่ดูจะใกล้เคียงกันนั้นเห็นจะเป็นคำว่า ‘Sampenga’ หรือ ‘Sampangi’ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ในภาษาพื้นเมืองหลายภาษาที่ใช้กันในประเทศอินเดีย มีชื่อของพรรณไม้ที่มีความใกล้เคียงกับทั้ง 2 คำข้างต้น อยู่หลายชื่อของพรรณไม้ อาทิ

          “จำปา” (Michelia champaca L.)

                   ภาษาเตลูกู (Telugu) Sampanga, Sampangi, Sampangi-puvvu, Sampenga และ Sampega

                   ภาษาทมิฬ (Tamil) Shampangi

                   ภาษาสันสกฤต (Sanskrit) Champaka หรือ Champaca ซึ่งเป็นชื่อที่ใกล้เคียงกับ

                   ภาษาอังกฤษ (English) Champak หรือ Sapu

          “การเวก” (Artabotrys hexapetalus (L.f.) Bhandari)

                   ภาษาเตลูกู Sampenga

       ภาษาทมิฬ Tiga Sampangi

และ “กระดังงา” (Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson)

       ภาษาเตลูกูและภาษาฮินดี (Hindi) Chettu Sampangi

 

         จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทราบว่าแม้จะใช้คำเรียกชื่อพรรณไม้ที่ใกล้เคียงกันสำหรับการสืบค้นข้อมูล แต่ก็ไม่พบความเกี่ยวพันกับชื่อที่ชาวฟิลิปปินส์ใช้เรียกชื่อมะลิแต่อย่างไร กลับอ้างถึงพรรณไม้ต่างชนิดพันธุ์กันถึง 3 ชนิด อย่างจำปา การเวก และกระดังงา ทั้ง ๆ ที่หลายคนเชื่อกันว่าพื้นที่บริเวณประเทศอินเดียเป็นถิ่นต้นกำเนิดของมะลิ แต่ถ้าพิจารณาอีกครากลับพบความเป็นจริงที่ว่า พรรณไม้ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกระดังงา และดอกการเวก ล้วนเป็นพรรณไม้ที่ให้ดอกที่มีกลิ่นหอมทั้งสิ้น และพรรณไม้เหล่านี้ยังเป็นพืชพื้นถิ่นในภูมิภาคเขตร้อนเฉกเช่นเดียวกันอีกด้วย ข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นชื่อพรรณไม้ข้างต้นจึงไม่สามารถนำไปสู่ข้อเท็จจริงของที่มาของชื่อ Sampaguita ได้

         

            จากตำนานเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ในแต่ครั้งอดีต ชวนให้เชื่อว่า ‘Sampaguita’ น่าจะเป็นชื่อที่มาจากภาษาพื้นเมืองของชาวฟิลิปปินส์จากคำว่า ‘Sumpa Kita’ คำดังกล่าวมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ‘I promise you.’ ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของ “ความรักอันเป็นนิรันดร์ และเฉพาะความรักเพียงแค่สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะมีความหวานหอมเช่นเดียวกับกลิ่นอันหอมหวนของดอกมะลิไปตลอดกาล”

      วิถีชีวิตแต่ครั้งดั่งเดิมของชาวฟิลิปปินส์ถือได้ว่ามีความผูกพันอยู่กับดอกมะลิเป็นอย่างมาก และเป็นดังเช่นนี้มาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าจะมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับดอกมะลิอยู่อย่างมากมาย และในตำนานที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรักอันเป็นนิรันดร์ และก็เป็นที่มาของชื่อดอกมะลิ อย่าง “ซัมปากีตา” หรือ ‘Sampaguita’ ดังในตำนาน ทั้ง 2 เรื่องที่จะได้กล่าวถึงในลำดับถัดไป

 

I ตำนานแห่งคนรักที่หายไป (The Missing Lover)

           ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า ดอกมะลิหรือ Sampaguita เกิดขึ้นจากหลุมฝังพระศพของเจ้าหญิง Lakambini โดยหลังจากที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงในฐานะทรงเป็นพระราชธิดาและเป็นองค์รัชทายาทจึงได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามเธอก็เป็นเพียงหญิงสาวแรกรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านการปกครองและการบริหารราชการบ้านเมือง กอปรทั้งยังมีอันตรายจากอาณาจักรอื่น ๆ โดยรอบ ที่มีความต้องการที่จะเข้ามาครอบครองอาณาจักรแห่งนี้ คงมีเพียงแค่ชายหนุ่มที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวอย่างเจ้าชาย Lakan Galing เท่านั้น ที่พร้อมจะปกป้องรักษาอาณาจักรของเธอจากเหล่าอริราชศัตรูโดยรอบ

          ณ เนินเขาที่โอบล้อมรอบไปด้วยทะเล เจ้าหญิง Lakambini ตกอยู่ในห้วงแห่งความรักที่มีต่อเจ้าชาย Lakan Galing ผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลือเธอด้วยดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เธอได้รับคำมั่นสัญญาจากเจ้าชายว่า เขาจะแต่งงานกับเธอ และจะจงรักภักดีกับเธอตลอดกาลอันเป็นนิรันดร์ ‘Sumpa Kita’ (“ฉันขอสัญญากับคุณ”) แต่เมื่อเวลาล่วงผ่านพ้นไป เจ้าชาย Lakan Galing ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นเพียงแค่ผู้ปกครองดูแล และป้องกันราชอาณาจักรเท่านั้น เขากลับมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะทำให้เหล่าศัตรูทั้งหมดสิ้นถึงแก่ความปราชัย “ถ้าศัตรูมันผู้ใดมิได้เข้ามากล้ำกราย เราจักออกไปเสาะแสวงหามันผู้นั้นเอง” Lakan Galing กล่าวดังนั้น เขาจึงได้ล่องเรือเพื่อออกไปเสาะแสวงหาเหล่าข้าศึกศัตรู จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ๆ เจ้าหญิงก็ได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าชายอันเป็นที่รักยิ่ง รอด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความปรารถนาและหวังให้ความรักหวนคืนกลับมา ทุกวัน ๆ เธอจะไปยังเนินเขาที่ที่เขาและเธอให้คำรักมั่นต่อกัน เฝ้ามองชายอันเป็นที่รักของเธอออกไปยังสุดสายตาแห่งทะเลกว้างอันเวิ้งว้าง แต่ก็เปล่าประโยชน์อันใด เจ้าชาย Lakan Galing ก็ไม่ได้หวนกลับคืนมาอีกเลย

       ไม่นานต่อจากนั้น เจ้าหญิง Lakambini ทรงตรอมพระทัยและได้สิ้นพระชนม์ไปพร้อม ๆ กับความโศกเศร้า เธอได้พบว่าเพียงเฉพาะความตายเท่านั้น ที่เป็นสิ่งสุดท้ายของเธอที่เหลืออยู่ ณ บนเนินเขาแห่งนี้ ที่ที่เธอยึดมั่นในสัญญารักอย่างมั่นคงด้วยความจริงใจ หลังจากที่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ เพียงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ได้มีไม้เถาถือกำเนิดขึ้นบนหลุมฝั่งพระศพ ด้วยดอกขนาดเล็ก ๆ สีขาว และเมื่อดอกไม้ชนิดนี้ผลิบาน ดอกจะส่งกลิ่นหอมหวนไปทั่ว ใบไม้ที่ต้องแสงจันทร์แลสายลมที่ผัดผ่านทำให้เกิดเสียงดังดั่งเป็นเสียงของเจ้าหญิง ประหนึ่งทรงเอื้อนเอ่ยว่า ‘Sumpa Kita’ ‘Sumpa Kita’ ‘Sumpa Kita’ อยู่เช่นนั้น จึงทำให้ดอกไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า ‘Sampaguita’ ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา

(Wolfgang Bethge)

II ตำนานแห่งคนรักที่นอกใจ (The unfaithful Lover)

           ณ Barangay แห่งหนึ่งยังมีหญิงสาวนาม Anita หญิงสาวผู้ซึ่งมีความสวยงามเปรียบดังความงดงามในห้วงเวลาแห่งอรุณรุ่ง และ Ernesto ชายหนุ่มผู้ซึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยความงามสง่าแห่งเอกบุรุษ เมื่อพวกเขาทั้งคู่ได้พบเจอกันก็ต่างตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งความรัก ดังคำที่ผู้เขียนได้กล่าวบรรยายไว้ว่า “ความงดงามของธรรมชาติและกลิ่นอันหอมหวนของดอกไม้ ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณที่ปรารถนาซึ่งความรักของคู่หนุ่มสาว และความรู้สึกระลึกถึงโชคชะตา พวกเขาทั้งสองได้ให้คำสาบานต่อกันไว้ว่าความรักของพวกเขาจะอยู่นอกเหนือจากซึ่งความตาย” วลีในตำนานแห่งโชคชะตาดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นถึงการประสบซึ่งเคราะห์กรรมต่อจากนี้ไป

          เมื่อเวลาผ่านพ้นไป Ernesto มีท่าทีที่แปลกไป Anita จึงสงสัยว่าชายคนรักของเธอจะแปรเปลี่ยนใจที่เคยรักมั่นไปเป็นอื่น เนื่องจากชายหนุ่มที่รูปงามเช่นเขาย่อมเป็นที่ต้องตาตรึงใจ และเป็นที่ดึงดูดความสนใจของหญิงสาวคนอื่น ๆ ราวกับแม่เหล็กที่ต่างขั้วกันก็ไม่ปาน เขาพยายามที่จะตีตัวออกห่างจากเธอ ด้วยเหตุและผลต่าง ๆ นานา เธอก็ได้แต่เพียงแค่กล่าวทัดทานเอาไว้ทุกคราไป

ผมขอยอมที่จะลืมสิ้น ซึ่งลมหายใจ ดีกว่าที่ผมจะลืมคำมั่นสัญญาในรักของเรา

ถ้าเขาพึงทรยศต่อเธอแล้วไซร้ ขอเธอพึงฆ่าเขาเสียด้วยคมแห่งกริชเล่มนี้เถิด

Ernesto กล่าวย้ำคำมั่น และบอกกับเธอเช่นนั้น

 

          และแล้วเวลาของการออกเดินทางของเขาก็มาถึง Anita มิอาจรู้ได้เลยว่าการลาจากกันครานี้ เธอจะไม่มีวันที่จะได้พบเจอชายคนที่เธอรักอีกตลอดไป เมื่อ Ernesto จากเธอไป เธอก็ได้แต่เก็บรักษากริชเล่มนั้นไว้ กริชที่เป็นดั่งตัวแทนและคำมั่นในรักที่เขาได้มอบให้ไว้กับเธอ เธอได้แต่เฝ้ารอคอยวันที่เขาจะหวนคืนกลับมาดังคำมั่นสัญญาแห่งรัก แต่โชคชะตาช่างโหดร้ายกับเธอซะเหลือเกิน เธอกลับได้รับรู้เรื่องราวที่เขาได้แต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น ครานั้นเธอรู้สึกได้ถึงลำคอที่ถูกรัดตรึงจนแทบจะหายใจไม่ออก หัวใจของเธอคล้ายดังว่าจะแตกสลายออกมาเป็นเสี่ยง ๆ Anita หวนคืนไปยังต้นไม้ที่เขาและเธอให้คำมั่นในรัก ซึ่งเป็นความตั้งใจของเธอที่จะตัดเอาเปลือกไม้ พร้อมเอื้อนเอ่ยถ้อยวลีว่า ‘Sinisumpa Kita’ (‘I curse you.’) หรือ “ฉันขอสาปแช่งคุณ” ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อความรู้ที่แค้นเคืองค่อย ๆ เบาแรงลง ด้วยหัวใจแห่งความรักที่ Anita มีให้แก่ Ernesto เธอจึงได้จารึกอักษรที่ถูกตัดทอนให้สั้นลงยังใต้ต้นไม้แห่งนี้ว่า ‘Sumpa Kita’ “ฉันขอสัญญากับคุณ” จากนั้นเธอจึงได้ปลิดชีพด้วยคมกริชเล่มที่ชายคนรักของเธอซึ่งเป็นผู้ที่มอบให้เธอเก็บรักษาไว้ เวลาหลังจากนั้นเพียงไม่นาน บนหลุมศพของเธอก็ได้พบพรรณไม้ที่ให้ดอกขนาดเล็กสีขาว ที่มีความเงางามราวดั่งไข่มุก กลิ่นของดอกไม้นี้ช่างหอมหวาน พร้อมกับการได้พบจารึกที่เธอสลักมันไว้ ‘Sumpa Kita’ คำจารึกที่แสดงถึงความรักที่มั่นคงอันเป็นนิรันดร์ของ Anita หญิงสาวผู้โชคร้ายในความรัก ซึ่งต่อมาชาวบ้านจึงเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ‘Sampaguita’ ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา

(Josef Genzor, 1987 in W. Bethge)

 

          จึงเป็นเรื่องราวของโศกนาฏกรรมแห่งความรักอันเป็นนิรันดร์ ในตำนานทั้งสองเรื่องดังกล่าว ทำให้พบคำตอบว่าความหอมหวนของดอกไม้ที่นำมาเปรียบดั่งคำมั่นสัญญาในรักอันเป็นนิรันดร์นั้นแท้ที่จริงแล้วก็คือ ดอกไม้แห่งคำสัญญา ‘Sampaguita’ หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั่วโลกในนาม Jasmine นั้นเอง

 

และในตอนหน้า Ep. 2/4 รอติดตามได้นะครับ ว่าจะมีเรื่องราวของ Sampaguita ที่เกี่ยวข้องกับชาวฟิลิปปินส์เช่นไร อย่าพลาดนะครับ

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย