“ดอกเอื้อง” เครื่องบรรณาการ

  • 12/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 3,743 คน

“ดอกเอื้อง” เครื่องบรรณาการ

"ดอกเอื้อง" เป็นคำใช้เรียกสื่อความหมายถึง ดอกกล้วยไม้ ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ คำว่า เอื้อง ชาวไทยใหญ่ในรัฐฉานของสหภาพเมียนมาร์ และชาวไตในแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน ยังใช้คำนี้สื่อความหมายถึงกล้วยไม้ด้วยเช่นกัน  เรื่องราวของอาณาจักรล้านนาในครั้งอดีตกว่า 700 ปีที่ผ่านมา มีบันทึกไว้ว่า ดอกเอื้องชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของสูงค่า หายาก ขึ้นอยู่บนต้นไม้สูง บนภูสูงได้ถูกนำมาเป็นหนึ่งใน “เครื่องบรรณาการ” ถวายแด่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ดอกเอื้องชนิดนั้น คือ ดอกเอื้องแซะ ซึ่งเป็นดอกเอื้องสีขาว ที่มีกลิ่นหอมเย็น ชื่นใจ และกลิ่นหอมคงอยู่ยาวนาน ไม่เหมือนดอกเอื้องชนิดอื่น 

จากตำนานของเมืองแม่สะเรียง เมื่อครั้งที่ยังมีชื่อ เรียกว่า "เมืองยวม" ได้บันทึกไว้ว่า ในสมัยโบราณ "เอื้องแซะ" เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่งที่ชาว "ลัวะ" ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต "เมืองเชียงใหม่" หรือกษัตริย์ผู้ครองล้านนาแทนการเกณฑ์แรงงาน และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ในเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช 2469 ชาวลัวะชาวดอยต่างไปหาเอื้องแซะมาถวาย  ดอกเอื้องแซะจึงถือว่าเป็นของสูงค่า เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องบรรณาการระหว่างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นเครื่องบรรณาการของ “ล้านนา” เพื่อมอบให้แก่ “กรุงรัตนโกสินทร์” อีกด้วย สำหรับท่านที่ต้องการชื่นชมความงดงามและความหอมตรึงใจของดอกเอื้องแซะ เครื่องบรรณาการล้านนาอันสูงค่านี้ สามารถเข้ามาชมได้ที่บริเวณสวนป่ากล้วยไม้ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

จันทรรัตน์ คงทัพ. 2562. รัชกาลที่ 7 เสด็จมณฑลพายัพครั้งแรก กับการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร. (ระบบออนไลน์).  https://www.silpa-mag.com/history/article_31190  (15 เมษายน 2563)

ดอกเอื้องแซะ. (ระบบออนไลน์). http://orchid2.blogspot.com/p/blog-page_3.html  (15 เมษายน 2563)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงกราบนมัสการ
พระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัด.  (ระบบออนไลน์). http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=2047  (15 เมษายน 2563)

เอื้องแซะ : ดอกไม้ต้องห้ามของราชวงศ์ล้านนาเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีที่แล้ว. (ระบบออนไลน์).  http://minimore.com/b/RcoPh/13 (15 เมษายน 2563)

Nanakorn, W. & Watthana, S. 2008, Queen Sirikit Botanic Garden (Thai Native Orchids 1). Wanida Press, Chiang Mai, 312 pp.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย