ทิลแลนด์เซีย ..นักดูดซับมลพิษ

  • 12/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,741 คน

ทิลแลนด์เซีย ..นักดูดซับมลพิษ

ทิลแลนด์เซีย (Tillandsia) หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า สับปะรดสี แต่ที่จริงแล้วทิลแลนด์เซียก็ไม่เชิงว่าจะเป็นสับปะรดสีซะทีเดียว เพียงแต่เป็นพืชวงศ์เดียวกัน (Bromeliaceae) และด้วยรูปร่างที่คล้ายกัน ทิลแลนด์เซียอาจจะเปรียบเทียบว่าเป็นสับปะรดอากาศ เพราะการใช้รากที่มีอยู่เพียงเป็นที่เกาะยึดเหนี่ยวกับต้นไม้ กิ่งไม้ โขดหิน หรืออื่นๆ แต่มีโครงสร้างเล็กๆ ที่ปกคลุมใบและลำต้นอย่างแน่นหนาที่เรียกว่า "ไทรโคม (Trichome)" ที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำและแร่ธาตุผ่านฝอยละอองทางอากาศ ตอนนี้เรามาดูกันว่าไทรโคมหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมถึงทำหน้าที่ดูดซับน้ำและแร่ธาตุแทนรากได้

 ไทรโคมของทิลแลนด์เซียที่เราเห็นเหมือนขนเล็กๆ สีขาวหรือสีเงินนั้น เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าที่เราเห็นเป็นเหมือนขนนั้น ที่จริงแล้วมีลักษณะแบน บาง คล้ายปีกหรือเกล็ดล้อมรอบช่องที่เป็นส่วนดูดซับละอองน้ำ แร่ธาตุต่างๆ เข้าสู่ใบและลำต้น นอกจากหน้าที่หาอาหารแล้ว  ไทรโคมยังมีหน้าที่สะท้อนแสง ป้องกันการสูญเสียน้ำที่มากจนเกินไป ทั้งจากแสงแดดโดยตรง ลม หรือพื้นที่ที่มีอากาศแห้ง ไทรโคมจึงเปรียบเหมือนโครงสร้างอวัยวะที่ช่วยในการปรับตัวต่อสภาพที่อยู่ของทิลแลนด์เซียให้สามารถทนแล้งและเจริญเติบโตอยู่ได้

ด้วยคุณสมบัติการเป็นนักดูดซับของทิลแลนด์เซียนั้น จึงมีการใช้ทิลแลนด์เซียในการเป็นพืชดูดซับฝุ่น เป็น ดรรชนีชีวภาพ (bio-monitors) ที่สามารถตรวจสอบโลหะหนักที่สะสมในบรรยากาศ จากมลพิษต่างๆ ที่ทิลแลนด์เซียสะสมและเก็บกักไว้ (Wannaz and Pignata, 2006)  โดยเฉพาะเคราฤาษี (Tillandsia usneoides) หรือ Spanish moss (Georgina et al., 2015)   ทิลแลนด์เซียที่ประเทศไทยเราก็มีการปลูกเลี้ยงแพร่หลาย

การปลูกเลี้ยงทิลแลนด์เซียสามารถทำได้ง่ายในหลายๆ มุมของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแขวนใต้ต้นไม้ แสงแดดรำไร 50-70% โดยประมาณ ปลูกเกาะท่อนไม้ประดับ หรือประดับตามผนังแนวโมเดิร์น ส่วนการรดน้ำสามารถรดได้วันเว้นวัน หรือหากช่วงความชื้นสูงเช่นฤดูฝน ลดการให้น้ำเป็น 3 วันต่อหนึ่งครั้ง และสำหรับผู้ที่ต้องการชมหรือเรียนรู้สายพันธุ์ต่างๆ ของทิลแลนด์เซีย และพืชอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านศาสตร์พระราชา และศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย

ข้อมูลอ้างอิง

Air plant design studio. Tillandsia trichome-in depth. [ระบบออนไลน์]. https://www.air-plants.com/blogs/air-plant-care-and-design-articles/tillandsia-trichomes-in-depth (23 เมษายน 2563).

Wannaz, E.D., Pignata, M.l. 2006. Calibration of four species of Tillandsia as air pollution biomonitors. Journal of atmospheric chemistry. 53, 185-209

Martinez, R.G., Carlos. A.L., Gabriela, A.V. 2015. Tillandsia usneoides as biomonitor of air pollution. Asian academic research journal of multidisciplinary. 2(6), 262-285.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย