ชันโรงผึ้งจิ๋ว แต่ประโยชน์ไม่จิ๋ว

  • 14/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 3,787 คน

ชันโรงผึ้งจิ๋ว แต่ประโยชน์ไม่จิ๋ว

          ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-4 เท่า ทั่วโลกพบประมาณ 500 ชนิด ในประเทศไทยพบทั้งหมด 12 สกุล 37 ชนิด โดยมีชื่อเรียกแตกต่าง กันไปตามท้องถิ่น เช่น ทางภาคเหนือเรียก ขี้ตังนี  ทางภาคอีสาน เรียก ขี้สูด ทางภาคใต้เรียก อุง และติ้ง แถวจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Stingless bee หมายถึง ผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน พวกมันไม่สามารถต่อยได้  ดังนั้นวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกรบกวนคือการกัดนั่นเอง ในชันโรงบางชนิดมีการหลั่งกรดฟอร์มิกซ์ร่วมด้วยในระหว่างการกัดซึ่งทำให้เกิดอาการแผลพุพองในคนที่แพ้ได้ ชันโรงเป็นแมลงที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในรังด้วยตัวเองได้ จึงมักอาศัยในสถานที่ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิภายในรังได้ดี เช่น ในโพรงต้นไม้ ซอกหิน ใต้ดิน ท่อประปา เป็นต้น ชันโรงจะสร้างท่อยาวๆ ยื่นออกมาเพื่อเป็นประตูสำหรับบินออกหากิน ปากทางเข้ารังเหล่านี้จะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป โดยปากทางเข้ารังสามารถจำแนกชนิดของชันโรงเบื้องต้นได้ด้วย เช่น ชันโรงปากแตรใหญ่ ทางเข้ารังจะเป็นกรวยรูปปากแตรยื่นออกมา ชันโรงใต้ดิน ส่วนใหญ่พบเป็นท่อยาวยื่นมาออกจากใต้ดิน หรือใต้ต้นไม้ ใต้จอมปลวก ในแนวดิ่งเป็นรูปวงกลม เป็นต้น  สารที่พวกมันนำมาใช้สร้างรังและทางเข้ารัง มาจากส่วนผสมของไขผึ้งและยางไม้ ในอดีตคนสมัยโบราณรู้จักการนำชันโรงมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชันอุดรูรั่วของเรือ ส่วนประกอบในการทำแคน ระนาด อุดฐานพระ ไปจนถึง สังเกตพฤติกรรมของแมลงชนิดนี้ในการหาสมุนไพร และทำยาสมุนไพร เป็นต้น ปัจจุบันชันโรงได้เช้ามามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมการเกษตรที่ยกให้ชันโรงเป็นกามเทพตัวจิ๋วของเหล่าไม้ผลเลยก็ว่าได้ เนื่องจากพวกมันชอบเก็บเกสรมากกว่าน้ำหวานนั่นเอง

           ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้มีการสำรวจและอนุรักษ์ชันโรงที่มีอยู่ในธรรมชาติ สำรวจพบมากกว่า 10 ชนิด กว่า 50 รัง กระจายทั่วอุทยานหลวงราชพฤกษ์ และหนึ่งในนั้นเป็นชนิดที่หายากอีกด้วย คราวหน้าเราจะไปทำความรู้จักกับแมลงชนิดนี้ให้มากขึ้น จะเป็นอะไรนั้นโปรดติดตามนะคะ

 

ที่มา

http://www.archives.mju.ac.th/learningbase/?p=412

http://bedolib.bedo.or.th

 

อ้างอิงรูปภาพ

https://www.pinterest.com/

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย