ฮือฮากับฝูงผีเสื้อไหมอีรี่

24/11/2017      จำนวนผู้เข้าชม 4091 คน

ฝูงผีเสื้อไหมอีรี่ออกมาจากดักแด้กางปีกเรียงตัวสวยงาม กว่า 500 ตัว สร้างความฮือฮากับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก

สำหรับผีเสื้อเหล่านี้ได้จัดแสดงอยู่ที่อาคารโลกแมลง โซนสำหรับเด็กๆ ที่จะได้ค้นหาความมหัศจรรย์และพฤติกรรมแปลกๆ ของแมลงหลากหลายชนิด พร้อมแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดและวงจรชีวิตของแมลง รวมทั้งผีเสื้อไหมอีรี่ที่ในช่วงนี้ต่างพากันทยอยออกมาจากดักแด้ ให้น้องๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับวงจรชีวิตจริงของผีเสื้อ (คาดว่าสามารถชมความสวยงามของผีเสื้อไหมอีรี่ได้ถึงสิ้นเดือน พ.ย.60 เนื่องจากเป็นผีเสื้อที่มีวงจรสั้นมาก)

สำหรับผีเสื้อไหมอีรี่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นผีเสื้อกลางคืน วงศ์ Saturniidae เป็นไหมชนิดฟักตลอดปี มีวงจรชีวิต 45-60 วัน ประกอบด้วยระยะไข่ ตัว ดักแด้หนอนไหม และผีเสื้อ แม่ผีเสื้อที่แข็งแรงสมบูรณ์จะวางไข่เฉลี่ยประมาณ 300 ฟอง ในฤดูร้อนไข่จะฟักภายใน 7 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นไข่จะอยู่ต่อไปได้นานถึง 24 วัน หนอนไหมอีรี่จะเริ่มทำรังหุ้มตัวเอง ด้วยการคายสารออกมาจากต่อมสร้างเส้นใย สารนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวเป็นเส้นใย จะใช้เวลาทำรังเสร็จภายใน 3 วัน ตัวหนอนจะพักอยู่ภายในรังและเริ่มเข้าดักแด้ ประมาณ 10-14 วัน และออกมาเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย

ผีเสื้อไหมอีรี่มีขนาดใหญ่ เมื่อกางปีกเต็มที่จะยาวถึง 4-5 นิ้ว ตรงกลางของแต่ละปีกจะมีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวสีเหลืองขาวตัดขอบด้วยสีดำสวยงามมาก เมื่อลองสัมผัสผีเสื้อดู ปรากฏว่าเจ้าผีเสื้อไม่ยอมบินหนีไปไหน เพียงแต่ทำท่ากางปีกเท่านั้น อายุของผีเสื้อตัวเต็มวัยจะมีวงจรชีวิตที่สั้น ประมาณ 7-10 วัน เนื่องจากมันไม่มีปาก (ไม่กินอาหาร) ใช้พลังงานจากที่สะสมไว้เมื่อครั้งเป็นตัวหนอน และเกิดมาเพื่อผสมพันธุ์แพร่เผ่าพันธุ์เท่านั้น

ความรู้และเรื่องราวของผีเสื้อไม่ได้อยู่แค่ตัวหนังสือ...ชวนเด็กๆ มาค้นหาพฤติกรรมของผีเสื้อและแมลงต่างๆ ได้ที่อาคารโลกแมลง อุทยานหลวงราชพฤกษ์

 

---------------

https://www.facebook.com/images/emoji.php/v9/f99/1/16/1f33a.png


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย