เปิดสวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร (Amazing Mars Garden) จำลองบรรยากาศและเรื่องราวบนดาวอังคารให้ร่วมค้นหาคำตอบ “มนุษย์จะอาศัยอยู่บนดาวอังคารได้จริงหรือ?”

06/04/2018      จำนวนผู้เข้าชม 2075 คน

จิสด้า จับมือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เปิดสวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร (Amazing Mars Garden) จำลองบรรยากาศและเรื่องราวบนดาวอังคารให้ร่วมค้นหาคำตอบ “มนุษย์จะอาศัยอยู่บนดาวอังคารได้จริงหรือ?”

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 เมษายน 2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เปิดสวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร หรือ Amazing Mars Garden ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและเยาวชนได้เข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต มุ่งให้ได้รู้จักประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการอยู่รอดอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาเชื่อมโยงเปิดโลกทัศน์อย่างสร้างสรรค์ โดยมี ดร.อำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธาน และ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมประทับรอยเท้า “ผู้เหยียบพื้นดาวอังคาร” เปิดงานในครั้งนี้

จากนั้นได้นำเด็กๆ เข้าชมห้องทดลองบนดาวอังคาร โดยชั้นที่ 1 จะเป็นห้องทดลองบนดาวอังคาร เพื่อค้นหาคำตอบว่า "มนุษย์จะไปอยู่ดาวอังคารได้จริงหรือ"  และชั้นที่ 2 จะเป็นพื้นที่แผนปรับเปลี่ยนดาวอังคารให้กลายเป็นโลก ซึ่งให้น้องๆ ได้ร่วมเล่นเกมสร้างอาณานิคมแห่งใหม่บนดาวอังคารตามจินตนาการ เพื่อค้นหาทางรอดบน 2 ทางเลือก  หนึ่ง: รังสรรค์นวัตกรรมการปรับตัว  สอง: แสวงหาโลกใหม่ในห้วงจักรวาล ต่อด้วยส่วนจัดแสดงโรงเรือนการทดลองปลูกพืชบนดาวอังคาร พืชชนิดใดที่เหมาะสำหรับปลูกบนดาวอังคารบ้าง รู้จักพืช 14 ชนิดที่เป็นอนาคตของมนุษยชาติ และยังมีกิจกรรมพิเศษ อาทิ เสวนา Inspiration Talk ในหัวข้อ “อนาคตของมนุษย์ชาติบน ดาวอังคาร” และมีโดรนให้เด็กๆ ได้ทดลองฝึกบินเล่นได้อีกด้วย

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมสวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร (Amazing Mars Garden)  ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8:00-18:00 น. ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 053-114110-5

 

 


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย