สวพส. จัดงานสืบสานงานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

15/08/2019      จำนวนผู้เข้าชม 1402 คน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมงานวันสืบสานงานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ชมนิทรรศการและผลงานดีเด่น เพื่อสืบสาน รักษา  ต่อยอด งานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีนโยบายที่สนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทย ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน  เป็นกลไกในการเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้วยการรักษาและต่อยอดงานโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยขยายผลสำเร็จไปพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด 616 กลุ่มบ้าน และถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงเครือข่าย จำนวน 914 กลุ่มบ้าน พื้นที่ 14 จังหวัด

 

การจัดงานวันสืบสานงานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2562
ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานของเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันจากการทำงานวิจัย งานพัฒนา และงานสนับสนุนด้านต่างๆ โดยมีเกษตรกรผู้นำจากพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และหน่วยงานร่วมบูรณาการ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เลย กำแพงเพชร และอุตรดิตถ์ เข้าร่วมงาน กว่า 700 คน รวมทั้ง การเผยแพร่ผลงานเด่น และผลสำเร็จจากการพัฒนาพื้นที่สูงให้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ หน่วยงาน
และผู้สนใจทั่วไป สามารถนำองค์ความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ต่างๆ ไปปรับใช้ในการพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้แทนหน่วยงานให้สามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สูงให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

 

โดยภายในงานยังมีการนำเสนอผลสำเร็จของงานวิจัย และงานพัฒนาที่โดดเด่น มากกว่า 100 เรื่อง อาทิบ้านห้วยเป้า ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น
เป็นสุข” เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย

แม่จริม ตำบลแม่จริม อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน : ชุมชนลดการเผาด้วยการพัฒนาแบบโครงการหลวง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองหลังนาโดยไม่ไถพรวน และไม่เผาฟาง ซึ่งเป็นการลดปริมาณหมอกควันในพื้นที่ถือเป็นชุมชนต้นแบบในการรณรงค์การแก้ไขปัญหาหมอกควัน

 

แม่วากโมเดล โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ : ต้นแบบในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการฟื้นฟูป่า สร้างป่าสร้างรายได้ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญบนพื้นที่สูง เช่น กาแฟ กัญชง
ไม้ผล และข้าว การจัดกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้นำเกษตรกร และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกวดผลิตผลทางการเกษตร การประกวดคลิปสั้น และภาพถ่ายแสดงผลงานเด่น กิจกรรมอาสา
ทำความดี ร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในบริเวณอุทยานหลวงราชพฤกษ์และบริเวณใกล้เคียง
และตลาดนัดชาวดอย


มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย