พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๕

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 7,118 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๕

         

          ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ณ เดือนมหามิ่งมงคล วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บทความพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 5 นี้ ผู้เขียนขอเสนอพรรณไม้งามที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระนามาภิไธย
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  อีก 3 ชนิด คือ โมกราชินี มหาพรหมราชินี และบัว ควีนสิริกิติ์ ดังได้กล่าวไว้ก่อนหน้านั้นในบทความพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 3 คือ  กล้วยไม้แคทลียา ควีนสิริกิติ์กุหลาบ ควีนสิริกิติ์ และ
ดอนญ่า ควีนสิริกิติ์ แล้วนั้น

          โมกราชินี และมหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้ที่มีความงดงามโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นไม้ถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในประเทศไทย และยังมีสถานภาพเป็นพรรณไม้หายาก และใกล้สูญพันธุ์ ส่วนบัวควีนสิริกิติ์ นั้นเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่เกิดจากการผสมพันธุ์โดยฝีมือคนไทย และได้ลักษณะของสีสันดอกที่งดงามยิ่งนัก แสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนไทย ในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพรรณไม้น้ำต่อไป   

 

                                       “นามพรรณไม้ราชสกุลมหิดล              มิ่งมงคลในแผ่นดินถิ่นสยาม

                                ดอก บัว ควีนสิริกิติ์ พรรณไม้งาม               พระนามพระราชทานไม้น้ำไทย

                                ไม้หายากพืชถิ่นเดียวสง่าศรี                     โมกราชินี งามพรรณตามวิสัย

                                มหาพรหมราชินี กรุ่นกลิ่นไกล                   ขจรไปทั่วแคว้นไม้งามพันธุ์

                                ดั่งพระบารมีท่านปกเกศ                           สายพระเนตรมิคลายมิแปรผัน

                                ทรงห่วงราษฎร์ดังลูกแม่แม่ผูกพัน              นิจนิรันดร์ถวายรักน้อมภักดี”

                  

โมกราชินี

          เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า 'Wrightia sirikitiae D.J.Middleton & Santisuk' ถูกค้นพบ และตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดย ดร.David John Middleton นักพฤกษศาสตร์ประจำหอพรรณไม้เอดินบะระ สหราชอาณาจักร และ ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์อาวุโสประจำหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 29 หน้า 1 ค.ศ. 2001 ตัวอย่างพันธุ์ไม้ต้นแบบหมายเลข Middleton & Wongprasert 579 เก็บจากเขาหินปูนหลังวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 คำระบุชื่อชนิด ‘sirikkitiae’ ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

          โมกราชินีเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 6 เมตร มีน้ำยางขาวทุกส่วน กิ่งอ่อนมีแผลระบายอากาศโดยทั่ว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นคู่ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนประปรายทั่วไป ดอก สีขาว ออกเป็นช่อจากปลายยอด มี 2-8 ดอก ขนาดบานเต็มที่กว้าง 4-5.5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายมน เกสรเพศผู้ 5 อัน เป็นมัดยอดแหลมอยู่กลางดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีจำนวนมาก แตกเป็นวงรัศมีโดยรอบฐานดอก เป็นเส้นบางๆ ปลายแตกแขนง สีขาวสะอาด ผล เป็นฝักคู่สีน้ำตาล รูปขอบขนานส่วนปลายโค้ง และกว้างกว่าส่วนโคน ผิวมีแผลระบายอากาศ แก่แล้วแตกตามยาว เมล็ด แบนรี ยาว 1.5-3 เซนติเมตร

          ดอกบานในฤดูหนาว ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกบานวันเดียวแล้วโรย ต้นที่นำมาปลูกเลี้ยง และได้รับความชื้นอยู่ตลอดเวลาจะให้ดอกจนถึงเดือนเมษายน ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน

          โมกราชินีเป็นพืชถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทยตามบริเวณเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่แล้ง ระดับความสูงประมาณ 100 เมตร กระจายอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี และสระแก้ว มีสถานภาพเป็นไม้หายาก และใกล้สูญพันธุ์

 

                                                             “งามพรรณงามดอกไม้     ขาวงาม

                                                    ดอกช่อชูชั้นตาม                     ถิ่นอ้าง

                                                   โมกราชินี นาม                        พฤกษ์พันธุ์ ยากนา

                                                    งามดั่งสวรรค์สร้าง                  คู่ฟ้าเพียงดิน”

 

 

มหาพรหมราชินี

          เป็นพืชถิ่นเดียว และพืชหายากของไทย ที่อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า 'Mitrephora sirikitiae Weeras., Chalermglin & R.M.K.Saunders' มหาพรหมราชินีสำรวจพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542 และได้ร่วมศึกษากับ ดร. Aruna D.Weerasooriya และ ดร. Richard M.Saunders นักพฤกษศาสตร์ปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 24 ฉบับที่ 2 หน้า 203 ค.ศ. 2004 ตัวอย่างพันธุ์ไม้ต้นแบบหมายเลข Chalermglin 460505 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกว่า “มหาพรหมราชินี” และชื่อระบุชนิดว่า ‘sirikitiae’ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547

           มหาพรหมราชินีเป็นไม้ยืนต้นสูง 6 เมตร ใบ เดียว เรียงสลับ รูปใบหอก ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบแหลมหรือมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ดอก ออกเป็นช่อค่อนข้างสั้น กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปไข่ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น สีขาวโคนกลีบสีเขียว รูปไข่ กลีบดอกชั้นในสีม่วงเข็ม ขอบกลีบเป็นคลื่น ปลายกลีบโค้งขึ้นมาจรดกันด้านบนเป็นรูปกระเช้า ก้านของกลีบดอกสีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศเมียประมาณ 17 อัน ดอกบานในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม บาน 2 วันแล้วโรย ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน และหอมแรงในช่วงใกล้ค่ำ ผล เป็นผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว 5-5.8 เซนติเมตร มีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอกแกมขอบขนาน ก้านผลย่อยยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร เมล็ด รูปคล้ายไข่หรือทรงกลมสีน้ำตาล มี 13-21 เมล็ด ผลแก่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี

 

                                                             “งามพรรณไม้พื้นถิ่น      แดนสยาม

                                                    ขาวดอกระเรื่องาม                  มิ่งไม้

                                                    พระราชทานนาม                   มหาพรหมราชินี

                                                    ไม้ถิ่นหายากไซร้                   ค่าล้ำพฤกษ์ไพร”

 

 

บัว ควีนสิริกิติ์

          บัวพระนาม ควีนสิริกิต์ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ NYMPHAEACEAE สกุล Nymphaea และมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า 'Nymphaea ‘Queen Sirikit’' เป็นบัวลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ข้ามสกุลย่อย (Intersubgeneric) ระหว่างสกุลย่อย Nymphaea (บัวฝรั่งหรือบัวเขตอบอุ่น) กับสกุลย่อย Brachyceras (บัวผันของไทย)

           ซึ่งนายไพรัตน์ ทรงพานิช ได้พยายามนำมาผสมข้ามสายพันธุ์จากพันธุ์บัวเขตอบอุ่น สายพันธุ์
เพอรี่ส์ไฟร์โอปอล (Perry’s Fire Opal) เป็นต้นแม่มาผสมกับบัวสายพันธุ์นางกวักฟ้าเป็นต้นพ่อ ใช้เวลาในการผสม 4 ปี กระทั่งได้ลูกผสมใหม่ที่มีกลีบดอก 2 สี คือส่วนปลายกลีบดอกมีสีม่วง โคนกลีบดอกมีสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมีสีขาวอมเขียว ซึ่งสีดอกสีม่วงนี้ถือว่าเป็นสีใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในบัวฝรั่งหรือบัวเขตอบอุ่น และที่สำคัญสามารถแตกหน่อ และขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ

          จากความงดงาม และมีลักษณะแตกต่างจากบัวพันธุ์อื่นๆ ทำให้สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้บัวลูกผสมนี้มีชื่อว่า“บัวควีนสิริกิติ์ (Nymphaea ‘Queen Sirikit’)” เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ พร้อมกับที่ทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระมารดาแห่งการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Mother of Biodiversity Conservation) จากรัฐบาลไทยในปี พ.ศ.๒๕๕๓

 

                                                          “พรรณไม้งามพืชน้ำ      บัว ควีนสิริกิติ์

                                                 ครีมม่วงกลีบวิจิตร                 ซ่อนซ้อน

                                                 งามสง่าราวประดิษฐ์              ผืนแผ่น นที

                                                 สีอ่อนหวานออดอ้อน             ยั่วเย้าภุมริน”

 

          ความงดงามของพรรณไม้พระนามพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 3 ชนิดนั้น มีความสำคัญมิเพียงเฉพาะความงดงามของดอกเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพรรณไม้ที่พบในประเทศไทย ยิ่งเป็นพรรณไม้ที่พบได้เฉพาะถิ่น ที่อยู่ในสถานภาพเป็นพรรณไม้หายาก และใกล้สูญพันธุ์ ยิ่งมีค่าควรคู่แก่การอนุรักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทยตราบนานเท่านั้น ซึ่งพรรณไม้ทั้งสามชนิดดังกล่าวนั้นทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์จะได้นำมาปลูกเพื่อจัดแสดงในโอกาสต่อไป

 

กวีศิลป์ คำวงค์

อ้างอิงข้อมูล    

 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สำนักงานหอพรรณไม้. พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย. บริษัท ประชาชน จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 2550.

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร. 2552.

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์ จำกัด.
กรุงเทพมหานคร. ๒๕๔๖.

        http://suanluangrama9.or.th/

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย