พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๘

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 3,707 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๘

 

         ณ ดินแดนแห่งภูสูงบริเวณแถบเทือกเขาหินปูนทางทิศเหนือตลอดถึงตะวันตกของประเทศไทย คณะนักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๔ ท่าน ได้แก่ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ดร.สันติ วัฒนฐานะ คุณเมธี วงศ์หนัก และคุณสุรางค์รัชต์ อินทะมุสิก โดยทำงานร่วมกับ Mr.Hendrik Ärenlund Pedersen ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้จากหอพรรณไม้ และสวนพฤกษศาสตร์แห่งกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้สำรวจพบกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลก และขอพระราชทานพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งชื่อกล้วยไม้สกุลใหม่ดังกล่าว ว่า กล้วยไม้สกุล “สิรินธรเนีย (Sirindhornia) ซึ่งอยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ ๔๘ พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ โดยได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ ๒๒ หน้า ๓๙๓ – ๔๐๒ เมื่อปีคริสตศักราช ๒๐๐๒ กล้วยไม้สกุลนี้มีการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่น บางพื้นที่ของเขตร้อนในทวีปเอเชีย บนเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย และบางชนิดเป็นกล้วยไม้ถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

          เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ ๒ เมษายน ผู้เขียนขอนำเสนอบทความพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๘ เกี่ยวกับเรื่องของกล้วยไม้ดินสกุลสิรินธรเนีย พรรณไม้พระนามออกเผยแพร่ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ชาติ และอาณาประชาราษฎร์ ขอพระราชทานพระราชวโรกาสถวายชัยมงคลแด่ใต้ฝ่าละอองพระบาท ขอใต้ฝ่าละอองพระบาท จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน กอปรด้วยพระเกษมสําราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง พระบารมีแผ่ไพศาลทั่วทิศานุทิศ ทรงสถิตเป็นพระมิ่งขวัญร่มเกล้าเหล่าพสกนิกรชาวไทยตราบกาลนิรันดร์เทอญ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

 

กล้วยไม้สกุลสิรินธรเนีย

 

                                      “สกุล สิรินธรเนีย กล้วยไม้ดิน      พืชเฉพาะถิ่นแดนกำเนิดหายากไซร้

                         ฉลองสี่สิบแปดพรรษาพระนามาภิไธย         พืชสกุลใหม่พระเทพรัตนราชสุดาฯ

                         เอื้องศรีอาคเนย์ เอื้องศรีประจิม                 ชมพูพริ้มระเรื่ออ่อนขาวม่วงนา

                         เอื้องศรีเชียงดาว พระนามพระราชทานมา    รัฐราษฎร์ข้าน้อมพร้อมภักดิ์ราชสดุดี”

 

เอื้องศรีเชียงดาว

          เอื้องศรีเชียงดาว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ คือ Sirindhornia pulchella H.A.Pedersen & Indham. เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้วยไม้ดินที่อาศัยตามซอกหินบนเทือกเขาหินปูนที่มีเศษซากพืชทับถม บริเวณที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัด ที่ระดับความสูง ๑,๘๐๐ – ๒,๐๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และที่สำคัญยังเป็นพืชหายาก และพืชถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในประเทศไทย โดยคำระบุชื่อชนิดว่า “pulchella” มีที่มาจากภาษากรีก แปลว่า สวยงาม

           ลักษณะเป็นกล้วยไม้ดิน สูง ๑๐ – ๒๕ เซนติเมตร ใบ แผ่รูปไข่กว้าง มีเส้นใบขนานตามยาวประมาณ ๘ – ๑๐ เส้น และมีจุดประสีแดงอมม่วงทั่วไป ช่อดอกสูงได้ถึง  ๑๐ –๓๐ เซนติเมตร มีประมาณ ๔ – ๑๒ ดอก ดอกสีชมพูมีประสีชมพูเข้ม กลีบข้างเป็นสีชมพูแกมขาว แผ่คล้ายหูค่อนข้างกลม สีเขียวแกมชมพู กลีบปากมีจุดประสีแดงหรือสีออกแดงแกมชมพู ส่วนปลายแผ่เป็น ๓ พูตื้นๆ ขนาดประมาณ ๑๐ – ๑๑ มิลลิเมตร เส้าเกสรเป็นก้อนใหญ่ งวงน้ำหวานเป็นหลอดยาวโค้ง ขนาดยาวประมาณ ๑๑ – ๑๔ มิลลิเมตร ดอกบานช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในฤดูที่ไม่เหมาะสมจะพักตัวเหลือเพียงหัวใต้ดิน

 

                                                        “กล้วยไม้ดินถิ่นนี้       เอื้องศรีเชียงดาว

                                                 ชูช่อฉัตรชั้นตรี                  ม่วงไม้

                                                 ชมพูระเรื่อสี                     งามเด่น ภูหลวง

                                                 พืชถิ่นหายากไซร้              ค่าล้ำแดนดิน”

 

 

เอื้องศรีประจิม

          เอื้องศรีประจิม มีชื่อทางพฤกษศาตร์ คือ Sirindhornia mirabilis H.A.Pedersen & Suksathan เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก เป็นกล้วยไม้ดินที่อาศัยในป่าเต็งรัง ตามซอกหินปูนที่มีเศษซากพืชทับถม พบทั้งที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด และแสงรำไร ที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และที่สำคัญยังเป็นพืชหายาก และพืชถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในประเทศไทย โดยคำระบุชื่อชนิดว่า “mirabilis” มีรากศัพท์จากภาษาละตินว่า mirus แปลว่า แปลกตา โดดเด่น

           ลักษณะเป็นกล้วยไม้ดิน สูง ๑๐ – ๓๔ เซนติเมตร ใบ แผ่รูปไข่กว้าง มีเส้นใบขนานตามยาวประมาณ ๘ – ๑๒ เส้น และมีจุดประสีแดงอมม่วงทั้งใบ ช่อดอกสูงได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร มีประมาณ ๑๖ – ๓๖ ดอก ดอกสีชมพู กลีบข้างแผ่สีอมเขียว ขนาด ๑.๕ เซนติเมตร กลีบปากมีสีชมพูแกมชมพูอ่อน ส่วนโคนแผ่ขยายออกเป็นปีก ๒ ข้าง ส่วนกลางคอดกิ่ว ส่วนปลายแผ่หยักเว้าเป็น ๒ พู เส้าเกสรเป็นก้อนใหญ่ งวงน้ำหวานส่วนโคนเป็นหลอดตรงส่วนปลายงอโค้ง ขนาดยาวประมาณ ๘ – ๙ มิลลิเมตร ดอกบานช่วงเดือนพฤษภาคมถึง มิถุนายน ในฤดูที่ไม่เหมาะสมจะพักตัวเหลือเพียงหัวใต้ดิน

 

                                                         “ซอกหินผากระด้าง       กล้วยไม้ อาศัย

                                               ประดับงามพันธุ์ไว้                   คู่ฟ้า

                                              เอื้องศรีประจิม ได้                    ชูช่อ ชมพู

                                               เฉพาะถิ่นใช่ทั่วหล้า                 รักษ์เอื้องไม้ดิน”

 

 

เอื้องศรีอาคเนย์

           เอื้องศรีอาคเนย์ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ คือ Sirindhornia monophylla (Collett & Hemsl.) H.A.Pedersen & Suksathan พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน และได้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์โดย Henry Collett และ William Botting Hemsley เป็นครั้งแรกในปีคริสตศักราช ๑๘๙๐ ว่า “Habenaria monophylla (Collett & Hemsl.)” ต่อมา Mr.Hendrik Ärenlund Pedersen และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ได้ศึกษาพืชวงศ์กล้วยไม้ของประเทศไทย จึงย้ายกล้วยไม้ชนิดนี้มาอยู่ในสกุล Sirindhornia โดยได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ ๒๒ หน้า ๓๙๕ – ๓๙๘ เมื่อปีคริสตศักราช ๒๐๐๒ เป็นกล้วยไม้ดินที่พบบนเขาหินปูน ขึ้นปะปนกับหญ้าในบริเวณที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด ที่ระดับความสูง ๑,๒๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง แถบทางตอนเหนือของประเทศไทย รัฐชานตอนเหนือของประเทศเมียนม่าร์ และแคว้นยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน และที่สำคัญเป็นพืชที่พบใหม่ บนดอยหัวหมด จังหวัดตาก โดยคำระบุชื่อชนิดว่า “monophylla” มีรากศัพท์จากภาษากรีก ๒ คำ คือ mono แปลว่า หนึ่ง และ phylum แปลว่า ใบ ความหมายโดยรวมจึงหมายถึง มีใบเพียง ๑ ใบ

          ลักษณะเป็นกล้วยไม้ดิน สูง ๑๐ – ๔๐ เซนติเมตร ใบ แผ่รูปรีแกมขอบขนาน มีเส้นใบขนานตามยาวประมาณ ๑๒ – ๒๐ เส้น และมีจุดประขนาดค่อนข้างใหญ่ สีแดงอมม่วงทั้งใบ ช่อดอกสูง ๑๐ – ๒๕ เซนติเมตร มีประมาณ ๖ – ๔๐ ดอก ดอกสีขาวแกมชมพู มีจุดประสีชมพูเข้ม กลีบข้างแผ่คล้ายหูหรือลักษณะค่อนข้างกลม สีชมพูแกมเขียว กลีบปากมีจุดประสีแดงแกมชมพู ส่วนปลายแผ่เป็น ๓ พู งวงน้ำหวานเป็นหลอดตรงหรือโค้งเล็กน้อย ขนาดสั้นกว่า ๘ มิลลิเมตร ดอกบานช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในฤดูที่ไม่เหมาะสมจะพักตัวเหลือเพียงหัวใต้ดิน

 

                                                             “ศรีอาคเนย์ ชื่อเอื้อง       ไม้ดิน

                                                    งามแทรกตามซอกหิน               ช่อตั้ง

                                                    กลีบปากเด่นสมจิน-                  ตนาการ

                                                    ขาวประชมพูทั้ง                        ทั่วถ้วนกลีบงาม”

 

          เอื้องศรีเชียงดาว และเอื้องศรีประจิม เป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นพรรณไม้พระนาม ที่ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว ยังเป็นพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่ของไทย และของโลก เป็นพืชถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะประเทศไทย โดยเอื้องศรีเชียงดาวพบได้เฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และเอื้องศรีประจิมพบได้เฉพาะที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ส่วนเอื้องศรีอาคเนย์ แม้จะมีเขตการกระจายพันธุ์ที่มีบริเวณกว้างกว่า กล้วยไม้ ๒ ชนิดแรก แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้กล้วยไม้สกุลนี้นำมาปลูกเลี้ยงยาก จึงไม่ควรนำออกจากถิ่นกำเนิด เนื่องจากหัวมักเสียหายจากการนำออกจากซอกหิน และมีความจำเพาะกับสภาพของถิ่นที่อยู่ ปัจจุบันในธรรมชาติมีจำนวนน้อยมาก จึงพบเห็นได้ยากมาก และพบเฉพาะในถิ่นที่อยู่เท่านั้น แม้ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์จะไม่มีโอกาสนำกล้วยไม้ทั้ง ๓ ชนิด มาจัดแสดง เพื่อให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจได้ชื่นชมความงดงาม ตระหนักถึงความสำคัญ และขอความร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้สกุลสิรินธรเนีย โดยฝากถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน และคืนสู่แหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ ให้สามารถดำรงชีวิตคงอยู่สืบต่อไปได้ตราบนานเท่านาน ผู้เขียนขอขอบพระคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง และรูปภาพที่สวยงามทุกๆ รูป ที่ทำให้บทความเรื่องนี้สำเร็จเสร็จสิ้นลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขอขอบพระคุณครับ

 

กวีศิลป์ คำวงค์

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สำนักงานหอพรรณไม้. พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย. บริษัทประชาชน จำกัด. กรุงเทพมหานคร. ๑๙๙ หน้า.

ภวพล ศุภนันทนานนท์. คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ ๖ พรรณไม้พระนาม. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร. ๑๑๑ หน้า.

สลิล สิทธิสัจจธรรม. ๒๕๕๒. กล้วยไม้ป่าเมืองไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๗). บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอยด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพมหานคร. ๔๙๔ หน้า.

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. ๒๕๕๑. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กล้วยไม้ไทย ๒. หจก. วนิดาการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่. ๓๒๔ หน้า.

 

อ้างอิงภาพ

 

http://pantip.com/topic/30620682

http://pantip.com/topic/30625122

http://s297.photobucket.com/user/hasachai/media/calandar/Sirindhornia-pulchella.jpg.html

http://www.siced.ac.th/index.php?name=anfe3

http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1398

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย