พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๑๑

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 5,686 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๑๑

 

          พรรณไม้งามอันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพรรณไม้ที่ได้รับพระราชทานพระราชนุญาตให้ใช้ชื่อพ้องกับพระนามาภิไธยของพระองค์ท่าน ซึ่งมีจำนวน ๑๑ ชนิด ดังได้นำเสนอในบทความพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๔ ตอนที่ ๗ และ ๘ ไปแล้วนั้น จำนวน ๗ ชนิด คือ สิรินธรวัลลี เครือเทพรัตน์ เทียนสิรินธรหรือชมพูสิริน กุหลาบพระนามสิรินธร เอื้องศรีประจิม เอื้องศรีอาคเนย์ และเอื้องศรีเชียงดาว ซึ่งเป็นกล้วยไม้ในสกุลสิรินธรเนีย และเหลืออีก ๔ ชนิดที่จะได้นำเสนอในบทความตอนนี้ คือ จำปีสิรินธร ม่วงเทพรัตน์ ไอยริศ และช้องเจ้าฟ้า

 

                                             “พรรณพฤกษาพระนามสิรินธร     อรชร ช้องเจ้าฟ้า สง่าศรี

                                 ม่วงเทพรัตน์ ไอยริศ ชื่นฤดี                     หอม จำปีสิรินธร ไม้พระนาม

                                สดุดีสมเด็จพระเทพพระรัตน์                    กรณียวัตรทรงกอปรแดนสยาม

                                 ทรงทำนุบำรุงสุขรัฐราษฎร์ราม                ทั่วเขตครามขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

                  

 

จำปีสิรินธร

                                                                                                             “ขาวนวลหวนกลิ่นไม้    อรชร

                                                                                                  รูปพรรณงามงอน                     เทิดไท้

                                                                                                 จำปีสิรินธร                              พระราชทาน

                                                                                                 งามมิ่งมงคลไว้                         ถิ่นนี้แดนไทย”

         

          จำปีสิรินธรสำรวจพบครั้งแรกโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ที่บริเวณป่าพรุน้ำจืด ตำบลซับจำปา อำเภอ
ท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่นี้ว่า “จำปีสิรินธร” และคำระบุชื่อชนิดว่า ‘sirindhorniae

          จำปีสิรินธรหรือที่ชาวจังหวัดลพบุรีเรียกว่า “จำปา จำปีสัก” เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์จำปา (MAGNOLIACEAE) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ คือ Magnolia sirindhorniae Noot. & Chalermglin เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๐ – ๒๕ เมตร เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใบ เดี่ยว รูปขอบขนาน ออกเรียงเวียนรอบกิ่ง ดอก เดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด กลีบดอกสีขาวนวล เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ผล กลุ่ม เมื่อแก่สีน้ำตาลแตกตามยาว เมล็ด รูปทรงรี สีแดงเข้ม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือทาบกิ่งโดยใช้จำปาเป็นต้นตอ

          จำปีสิรินธรเป็นพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของไทย พบขึ้นในป่าพรุน้ำจืด และมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา ทางภาคกลาง ที่ระดับความสูง ๕๐ – ๒๐๐ เมตร ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ดอกบานวันเดียวแล้วโรย ดอกเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงใกล้พลบค่ำ มีกลิ่นหอมแรงตลอดวัน ในวันต่อมากลีบดอกจะกางบานและร่วง ผลแก่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปลูกเป็นไม้ดอก ให้ร่มเงาได้ดี

 

 

ม่วงเทพรัตน์

         

          “งามพรรณงามม่วงไม้     พระนาม

ม่วงเทพรัตน์ งาม                    ยิ่งแล้ว

งามดอกสีม่วงคราม                  งามเด่น

งามค่าดั่งดวงแก้ว                    เพริศแพร้วพรรณนา”

 

          ม่วงเทพรัตน์หรือชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า “Persian Violet” เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์ GENTIANACEAE มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ คือ Exacum affine Balf.f ex Regel

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามภาษาไทยว่า “ม่วงเทพรัตน์” เมื่อวันที่ ๒๙ กันยาย ๒๕๕๒  เป็นไม้ล้มลุกซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของเกาะ Socotra อยู่ในหมู่เกาะ Yemen ในมหาสมุทรอินเดีย ใบสีเขียวเข้ม รูปไข่ ความสูงในสภาพธรรมชาติประมาณ ๖๐ เซนติเมตร โดยทั่วไปจะออกดอกในช่วงหน้าร้อน และฤดูใบไม้ผลิ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า รูปร่างของดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วมีรูปทรงคล้ายดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองสามารถเห็นได้ชัดเจน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

 

 

ไอยริศ

                                                                                                                    “งาม ไอยริศ ช่อคร้าม     ม่วงคราม

                                                                                                             พืชถิ่นเดียวพระนาม              มิ่งไม้

                                                                                                             ชูช่อช่อม่วงงาม                    ประดับ

                                                                                                             พระราชทานให้                     ซึ่งไว้ค่าควร”

 

           ไอยริศ  เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ คือ Zingiber sirindhorniae Triboun  สำรวจพบบนยอดเขาหินปูนในเขตอำเภอหนองหินและอำเภอผาขาว จังหวัดเลย จัดเป็นพืชหายาก เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย และเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่พบโดย ดร.ปราโมทย์ไตรบุญ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และพระราชทานชื่อไทยว่า ไอยริศ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

          ไอยริศเป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู ลำต้นเป็นเหง้ากลม รากสะสมอาหารรูปทรงกระบอก เนื้อในสีเหลือง กลิ่นเช่นเดียวกับขิง ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบรูปลิ่ม ช่อดอกเป็นช่อเชิงลด  เกิดที่ปลายลำต้นส่วนเหนือดิน ใบประดับสีเขียว มีขอบสีม่วงแดง ใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ  โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกด้านเดียว ขอบเป็นหยัก ๓ แฉก กลีบดอกสีขาว  โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด  ปลายแยกเป็น ๓ แฉก  เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๕ อัน สีม่วงเข้มมีลายประสีขาวเปลี่ยนรูปร่างไปมีลักษณะ คล้ายกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดสีดำรูปกระสวย มีเยื้อหุ้มเมล็ดสีขาว

 

 

ช้องเจ้าฟ้า

 

        “ช้องเจ้าฟ้า พุ่มไม้            งามพันธุ์

เทิดพระเกียรติเฉลิมขวัญ           แซ่ซ้อง

พืชเฉพาะสยามถิ่นนั้น               ปรากฏ

ชนิดใหม่ประกาศก้อง                นบเกล้าสดุดี”

         

          พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบบนผืนแผ่นดินไทย “ช้องเจ้าฟ้า” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในพืชวงศ์ BUXACEAE มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า 'Buxus sirindhorniana W. K. Soh, M. von Sternburg, Hodk. & J. Parn.'

           ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง พบขึ้นกระจายห่าง ๆ บนดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ เพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปี ๒๕๕๗ โดยคำระบุชนิดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  

 

กวีศิลป์ คำวงค์

 

เอกสารอ้างอิง

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานหอพรรณไม้.๒๕๕๐. พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย. บริษัทประชาชน จำกัด. กรุงเทพมหานคร. ๑๙๙ หน้า.

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. แมกโนเลียเมืองไทย. ๒๕๔๕. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร. ๓๕๑ หน้า.

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม. ๒๕๕๒. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร. ๑๘๕ หน้า.

         http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n13/v_11-dec/korkui.html

         http://www.rspg.or.th/: โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

 

อ้างอิงภาพ

        http://novataxa.blogspot.com/2014/02/buxus-sirindhorniana.html

        http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Picture/jackth/DSC_6389.jpg

        http://commons.hortipedia.com/images/c/cb/Exacum_affine_photo_file_PDB_125KB.jpg

        http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n13/v_11-dec/korkui.html

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย