เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๒

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 9,370 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๒

 

ลั่นทม ดอกไม้ประจำชาติของลาว

Dok Champa is the National Flower of Laos

 

ຍິນດີ

 

                                                                       “…โอ้ดวงจำปา       บุปผาเมืองลาว           งามดั่งดวงดาว

                                                            ซาวลาวเพิงใจ                   เกิดอยู่ภายใน             แดนดินล้านซ้าง

                                                            ถ้าได้พลัดพราก                 หนีลาเฮดจาก             บ้านเกิดเมืองนอน

                                                            เฮาจะเอาเจ้า                     เป็นเพื่อนฮ่วมเหงา      เท่าสิ้นซีวา

                                                            เจ้าดวงจำปา                     มาลางามยิ่ง               มิ่งเมืองเฮาเอย”

ตอนหนึ่งของบทเพลง “ดวงจำปา” ผู้ประพันธ์นายอุตะมะ จุลามะนี
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของลาว

                  

           ลั่นทม เป็นดอกไม้ประจำชาติ ของบ้านพี่เมืองน้องของเราอย่างลาว ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว"  ชาวลาวเรียกดอกลั่นทมว่า “จำปา” และเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับพี่น้องชาวลาวอย่างมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากบทเพลงอมตะที่ชาวลาวทุกคนรู้จักดี คือ เพลง “ดวงจำปา” หรือ “จำปาเมืองลาว” ซึ่งนายอุตะมะ จุลามะนี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของลาวเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น เมื่อยามที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่แดนไกล สมัยที่ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส “ดวงจำปา” นี้เป็นบทพรรณนาถึงความผูกพันกับดอกจำปาหรือลั่นทมซึ่งอยู่เคียงคู่เมืองลาวมาแต่โบราณ สะท้อนความรักความหวงแหนแผ่นดินเกิด อันเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากชนชาติใดๆ ในโลก ซึ่งล้วนต้องมีจิตสำนึกในการปกป้องรักษาถิ่นฐานแว่นแคว้นของตนกันทั้งนั้น เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อทวงคืนเอกราชของลาว กระทั่งเมื่อเป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2518 ผู้นำประเทศในสมัยนั้นจึงเลือกดอกจำปาหรือลั่นทมเป็นดอกไม้ประจำชาติ ทุกวันนี้ใครที่ได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองลาว ก็มักจะเห็นต้นลั่นทมที่ปลูกไว้ให้ความสวยงาม และร่มเงาตามวัดวาอารามซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวให้ความสำคัญอย่างสูง

           ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุข และความจริงใจ คนลาวปลูกจำปาขาวไว้ตามรั้วบ้านเพื่อสะดวกในการเก็บดอก จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขก และคนลาวนิยมนำดอกจำปาขาวมาลอยในน้ำหอม (น้ำอบ) เพื่อใช้ในพิธีรดน้ำดำหัว และใช้สรงน้ำพระในวันสงกรานต์ ( วันสังขาร) อีกด้วย นอกจากนี้ก็นิยมเอาดอกจำปาขาวมาประดับตกแต่งให้สวยงามในเครื่องบายศรีสู่ขวัญ

           ลั่นทม มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Plumeria rubra L. เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแม็กซิโก และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา สันนิษฐานกันว่า พันธุ์ไม้นี้มีการเอาเข้ามาผ่านอินเดีย โดยนำเข้ามาปลูกตามวัดวาอาราม ฝรั่งเห็นดังนั้น จึงเรียกว่า Pagoda Tree หรือ Temple Tree

           ลั่นทม จากประเทศอินเดียเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ได้อย่างไร ย้อนไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ ว่ากันด้วยเรื่องชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ จุดกำเนิดการแพร่พันธุ์ น่าจะมาจากขอม ว่ากันว่าขอมโบราณมีความผูกพันกับไม้ชนิดนี้มาก และน่าจะเป็นจุดที่มีการแพร่กระจายออกไปยังอาณาจักร หัวเมืองอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งลาวและไทยด้วย

           ส่วนในลาวหรือล้านช้าง มีประวัติว่ามีมาตั้งแต่รัชสมัยเจ้าฟ้างุ้ม  (พ.ศ. 1896 – 1915) เพราะ มเหสีของเจ้าฟ้างุ้มนั้น เป็นธิดาของขอมโบราณ และผู้นำไปปลูกในลาวคือ เจ้าฟ้างุ้ม โดยเรียกต้นไม้นี้ว่า จำปาขาว

           ลั่นทม มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า ‘Plumeria  หรือ Frangipani’ ส่วนชื่อลั่นทมนี้ มีผู้รู้บางท่านบอกว่าไม่ได้มาจากค่ำว่าระทม  จริงๆ แล้ว ลั่นแปลว่า “ละทิ้ง” และทม มาจากคำว่า “ระทม” รวมก็คือละทิ้งความระทมซึ่งเป็นความหมายที่ดี บ้างก็ว่า ลั่นทมเพี้ยนมาจากคำว่า “สรัลทม” ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่ารักอันยิ่งใหญ่ บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่าลานธม ซึ่งในสมัยโบราณมีการนำดอกไม้ชนิดนี้ไปวางเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลานธม ซึ่งเป็นลานหินในนครธม

           ช่างนับว่าเป็นโชคดีของเจ้าดอกลั่นทมที่ต่อมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระองค์ได้พระราชทานนามใหม่แก่ลั่นทม ว่า “ลีลาวดี” ซึ่งน่าจะมาจากลักษณะการทอดกิ่งที่อ่อนช้อยงดงาม ทำให้คนเริ่มนิยมปลูกไม้ชนิดนี้มากขึ้น และก็มีชื่อเรียก แตกต่างกันไป

           ขอม จะเรียกลั่นทมว่า จำไปย์หรือจำปาซอ ลาว และในประเทศไทย แถบภาคอีสาน เรียก จำปาขาว คนเหนือ เรียก จำปาลาว คนใต้ เรียก จำปาขอม คนมาเลเซีย เรียกบุหงา กัมโพซา คนเกาะชวา เรียกกัมโพชา ส่วนพม่าเรียก ไตสักกา แปลตามตัวหมายถึง จำปาจีน

         จำปาขาวนี้เข้ายาได้หลายส่วน อาทิ ใบใช้รักษาโรคหืด คนลาวจึงนิยมเอาใบมาอบกรอบแล้วกินเป็นยา ดอกจำปาขาวใช้ทำธูป หรือ ผสมกับพลูใช้เป็นยาแก้ไอ ยางจากลำต้นใช้เป็นยาถ่ายหรือรักษาโรคไขข้ออักเสบ

 

                                                                                “จำปาขาว ช่อชั้น             ลีลา วดี

                                                                         กลีบกลิ่น ลั่นทม นา                 ชื่อพ้อง

                                                                         งามสรรพคุณคุณค่า                 หลายยิ่ง

                                                                         กรุ่นกลิ่นกังวานก้อง                  ค่ำให้หอมเย็น”

 

ດ້ວຍຄວາມຮັກແລະຄິດເຖິງ

กวีศิลป์ คำวงค์

เอกสารอ้างอิง

 

กระจ้อน's blog. ลั่ นทม.........ชอบชื่อนี้. [เวปไซต์] http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=juti&group=13 (9 ธ.ค. 2557)

ฉัฐสุดา (ดาว) สุกทน.  โอ้เจ้าดอกจำปาลาว. [เวปไซต์] https://www.gotoknow.org/posts/314268 (18 ธ.ค. 2557)

Sangkae's Blog. ลั่นทม..สิ้นความระทม. [เวปไซต์] http://sangkae.wordpress.com/tag/plumeria-rubra/ (9 ธ.ค. 2557)     

 

 

อ้างอิงภาพ

 

http://www.plantstamps.net/stamps/laos.htm

http://labolsablanca.blogspot.com/2011_10_01_archive.html

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย