เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๕ (Ep. 1/3)

  • 07/12/2016
  • จำนวนผู้ชม 7,913 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 5 
(Ep. 1/3)

ดอกชบา ดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย

Bunga Raya is the National Flower of Malaysia

        

                                                                                                                                                                  “สีแดงสวยสดนั้น     ชบา 
                                                                                                                                                           เรื่อระหงดอกลา    ชดช้อย
                                                                                                                                                           บุหงา ชื่อ รายา    ประดับ งามเฮย
                                                                                                                                                           ไม้พฤกษ์พรรณหมื่นร้อย     บ่ได้เทียบเคียง” 

 

Sangat rindukan anda

 

บุหงารายา

 

“บุหงา” ในภาษาชวา (คำนาม)  หมายถึง ดอกไม้ หรือ
                                              หมายถึง ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มีมะลิ กระดังงา กุหลาบ เป็นต้น ที่ปรุงด้วยเครื่องหอมแล้วบรรจุในถุงผ้าโปร่งเล็ก ๆ ทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ
                                              ตัดมาจากคำว่า “บุหงารำไป” มักเรียกโดยย่อว่า “บุหงา”
                                              (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

“รายา” ในภาษามลายู (คำนาม) หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าชายหรือหญิง เช่น รายาศรีวังษา (ชาย) รายากูนิง (หญิง)
                                              ตลอดจนเจ้านาย เช่น รายามุดา คือ มกุฎราชกุมาร ส่วนเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกว่า “รายานครี” บางทีออกเสียงเป็น รายอ
                                              (พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร)

 

Bunga Raya

 

‘Bunga’  ในภาษามลายู หมายถึง ดอกไม้ (flower)

‘Raya’    ในภาษามลายู หมายถึง ยิ่งใหญ่ (grand) หรือการเฉลิมฉลอง (celebration)

 

          คำว่า “บุหงารายา” แปลอย่างตามตัวอักษร คือ ดอกไม้ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งหมายถึง ดอกชบา และคำว่า ‘Bunga Raya’ แปลอย่างตามตัวอักษร คือ ‘large flower’ หรือ ‘celebration of flower’ ซึ่งหมายถึง กุหลาบจีนหรือชบาหรือ Hibiscus rosa-sinensis L. นั้นเอง

          ในมาเลเซียยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ที่ใช้เรียกดอกชบาอีก อาทิ Baru Landak, Botan, Bunga Waktu Besar, Mati Bini, Mati Laki, Laki Pukul Bini (T. K. Lim, 2014) และภาษามลายู ที่สื่อความหมายถึงดอกชบา อาทิ Bebaru, Bunga Raya, Bunga Pepulut (มาเลเซีย) และ Pucuk, Kembang Sepatu (อินโดนีเซีย)

 

          ดอกชบาหรือที่ชาวมาเลเซียเรียกว่า “บุหงารายา” หรือ  ‘Bunga Raya’  ที่สำหรับใช้เป็นดอกไม้ประจำชาตินั้นจะมีลักษณะดอกลา คือ ดอกชบาที่มีกลีบดอกเพียงชั้นเดียว ดอกเดี่ยว กลีบดอกสีแดงจำนวน 5 กลีบ

          ดอกเดี่ยว หมายถึงความเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

          สีแดงของกลีบดอกชบานั้นเปรียบดังเป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึง ชีวิต ความรัก ความกล้าหาญ ความเชื่อ การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และความเป็นอิสระของชาวมาเลเซีย

          จำนวนกลีบดอกทั้ง  5  กลีบ ของดอกชบานั้น หมายถึง  ‘Rukun Negara’ ของประเทศมาเลเซีย (Malay for ‘National Principles’) คือ หลักการห้าประการในการสร้างความปรองดองระหว่างเชื้อชาติต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย

Rukun Negara

          1. Kepercayaan Kepada Tuhan;                     (Belief in God)

          2. Kesetiaan Kepada Raja dan Negara;          (Loyalty to the King and Country)

          3. Keluhuran Perlembagaan;                         (Supremacy of the Constitution)

          4. Kedaulatan Undang - Undang;                  (The Rule of Law)

          5. Kesopanan dan Kesusilaan;                       (Courtesy and Morality)

 

          และอีกเหตุผลหนึ่ง คงเป็นเพราะในประเทศมาเลเซียเราสามารถพบเห็นดอกชบาได้โดยทั่วไปดอกชบาสีแดงที่สวยงามอย่างโดดเด่น จึงทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นสะดุดตาต้องใจยิ่งนัก ชบาเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลบำรุงรักษามากนัก การดูแลไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกง่าย และยังสามารถออกดอกให้ได้เชยชมตลอดทั้งปี นอกจากชบาจะปลูกให้เป็นไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ในแถบชานเมืองหรือในชนบทยังพบเห็นการนำชบามาปลูกเรียงเป็นแถวเป็นแนว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดขอบเขตของพื้นที่หรือปลูกเป็นรั้วบ้านอีกด้วย จึงนับได้ว่าดอกชบานั้นเป็นดอกไม้อันเป็นที่รักอย่างสูง และเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชนชาวมาเลเซียเป็นอันมาก ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) จะปลูกชบาตามพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มให้มากยิ่งขึ้น หน่วยงานปกครองเมืองได้จัดตั้งสวนชบาขึ้นในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์ Perdana เพื่อจัดแสดงดอกชบานานาพันธุ์ และเพื่อมอบความสุข ความเพลิดเพลินแห่งสุนทรียภาพจากการจัดตกแต่งภูมิทัศน์อย่างงดงามสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว บนพื้นที่ 5 ไร่ เศษ พวกเขาได้เนรมิตสวนชบาหลากหลายสายพันธุ์ และดอกไม้ชนิดอื่น ๆ มารวบรวมและปลูกจัดแสดง จนทำให้มองเห็นเป็นภาพที่สวยสดงดงามละลานตาไปด้วยสีสันของดอกไม้มากกว่า 1,000 ชนิด

นอกจากชบาจะปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ชบายังนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น

1. ยารักษาโรค; ตำหรับยาของชาวพื้นถิ่นดั้งเดิมของมาเลเซีย

          - รากชบา สำหรับใช้ทำยาหยอดตา ใช้รักษาอาการระคายเคืองหรือเจ็บตา และต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการไอหรือใช้รักษาอาการต่อมทอนซิลอักเสบ
          - รากชบาดอกสีขาว ต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โรคผิวหนัง แผลในปากที่เกิดจากอาการร้อนใน และโรคกามโรค
          - รากหรือดอกชบา ต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไข้ และช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
          - ชบาดอกสีขาว คั้นน้ำ ใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับความเจ็บปวดจากแผลร้อนใน อาการของโรคคล้ายกับการติดเชื้อราในช่องปาก ใช้รักษาโรคบิดสปรู (โรคระบาดที่มีอาการท้องร่วง และอาเจียนร่วมด้วย) และรักษาโรคคอตีบ
          - ดอกชบา ชงน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบ และขับเสมหะ หรือหลังจากทิ้งน้ำที่ชงจากดอกชบาไว้ชั่วข้ามคืนหนึ่ง เพื่อให้ได้สัมผัสกับหยาดน้ำค้าง ใช้รักษาโรคหนองใน
          - ใบชบา ต้มน้ำ ใช้ประคบบริเวณศีรษะหรือแผลที่เกิดอาการฟกช้ำ เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือชงน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ

          - เปลือกชบา ใช้เป็นยาขับประจำเดือน นอกจากนี้ยังช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
          - ใบชบา ชาวมลายู ต้มน้ำ ทำเป็นโลชั่นสำหรับทาเพื่อบรรเทาอาการไข้
          - ชบาดอกสีขาวและสีแดง ชาวกลันตันในรัฐกลันตัน ต้มน้ำ ใช้รักษาอาการพิษถอนพิษ หรือต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไข้หวัดใหญ่

          - เปลือกรากชบา ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ แช่ในน้ำ ทิ้งไว้ชั่วข้ามคืนหนึ่ง และดื่มขณะท้องว่างใช้รักษาฝี

 

2. อาหารและเครื่องดื่ม

          - ดอกชบา ชาวมลายูใช้เป็นสีผสมอาหารในอาหารอย่างเช่น เยลลี่ วุ้นหรือ toddy; น้ำตาลเมา ซึ่งเป็นเหล้าผสมน้ำร้อน น้ำตาลหรือบางทีใส่ก้านพลู หรือน้ำจากต้นตาล (toddy-palm; Borassus flabellifer L.) มักนำมาหมักทำเป็นเครื่องดื่ม
          - ดอกชบา ใช้ทำเครื่องดื่มซึ่งได้รับการพัฒนาและการตลาด โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรมาเลเซีย ร่วมกับมหาวิทยาลัย Malaya และหน่วยงานของรัฐตรังกานู

 

3. ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ

          - ชบาดอกสีแดง ผู้หญิงชาวมาเลเซียใช้เป็นเครื่องประดับ นิยมนำดอกชบามาทัดหูหรือแซมผม ซึ่งเข้ากันได้ดีกับชุดพื้นเมืองที่เธอสวมใส่ได้อย่างเหมาะสมและสวยงาม
          - ดอกชบา ชาวมลายูใช้ในพิธีกรรมขับไล่โรคภัยไข้เจ็บ และโรคระบาดต่าง ๆ

 

          สำหรับดอกชบานั้นสันนิษฐานว่าได้ถูกนำเข้ามาทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซียราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่ไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่านำมาจากที่แห่งใด ดอกชบาได้รับการเสนอชื่อ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร ในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) เพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติร่วมกับดอกไม้อีกหลายชนิดที่มีการเสนอชื่อเข้าชิงในขณะนั้น อาทิ ดอกกระดังงา (Bunga kenanga) ดอกมะลิ (Bunga melati หรือ Bunga melur) ดอกบัว (Bunga teratai) ดอกกุหลาบ (Bunga mawar) ดอกจำปา (Bunga Cempaka) และดอกพิกุล (Bunga tanjung) และในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) รัฐบาลของประเทศมาเลเซีย โดยนายกรัฐมนตรี Tunku Abdul Rahman Putra Al-Haj ได้ประกาศให้ ดอกชบาหรือ Bunga Raya (Hibiscus rosa-sinensis L.) เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชบานอกจากจะสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามสวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ สถานที่ที่สำคัญทางราชการ ตลอดจนบ้านเรือนของประชาชนในประเทศมาเลเซียแล้ว ภาพดอกชบาสีแดงยังสามารถพบได้บนธนบัตรหรือภาพนูนต่ำของดอกชบาบนเหรียญกษาปณ์ในเงินสกุลริงกิต (Ringgit) ของประเทศมาเลเซียอีกด้วย

          ความสวยสดงดงามที่โดดเด่นของดอกชบานั้น ได้เห็นเป็นประจักษ์แล้วแก่สายตาของผู้คนทั่วทั้งโลก ต่างประเทศจึงให้สมญานามหรือขนานนามดอกชบาว่า “ราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน” (Queen of Tropical Flower) ดอกชบามีหลากหลายชนิด (species) ทั้งชนิดพันธุ์ (varieties) สายพันธุ์ปลูก (cultivars) และพันธุ์ลูกผสมต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ด้วยสีของกลีบดอกที่มีตั้งแต่สีขาวสะอาดบริสุทธิ์จนค่อยๆ มีสีที่เข้มขึ้นจนกระทั้งถึงสีเหลืองสดหรือดอกสีส้มจนถึงดอกสีแดง และดอกโทนสีชมพูจนถึงดอกสีม่วงของดอกลาเวนเดอร์ มีทั้งดอกที่มีเพียงสีเดียวหรือดอกที่มีหลายสีในดอกเดียว มีทั้งดอกที่มีรูปแบบกลีบดอกเพียงชั้นเดียวหรือที่เรียกว่า “ชบาดอกลา” กลีบดอกที่มี 2 ชั้นหรือมากกว่าหรือที่เรียกว่า “ชบาดอกซ้อน”

          ดอกชบา เป็นพันธุ์ไม้ดอกที่จัดอยู่ในวงศ์ MALVACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus rosa-sinensis L. (ExS/ ST) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกขานชบา ได้แก่ Blackening-plant, China rose, Chinese hibiscus, Hawaiian hibiscus, Rose-of-China (English, United States) หรือ Checkered Hibiscus, และ Shoe flower ชื่อขานนามดอกชบาชื่ออื่นมิได้สะดุดใจแต่อย่างใด เว้นเพียงแต่ชื่อสุดท้าย ‘Shoe flower’ หรือ “ดอกรองเท้า” หรือ “ต้นดอกขัดรองเท้า” ที่มานั้นคงมาจากบันทึกเกี่ยวกับพฤกษชาติของฝรั่งเล่มหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ในบางแห่งใช้ดอกชบาย้อมผม และขัดรองเท้าอีกด้วย” (ส. พลายน้อย, 2554)

          ชื่อสกุลของชบา คือ Hibiscus (generic name) ซึ่งได้รับมาจากคำภาษากรีก (Greek) ἱβίσκος หรือ ‘hibískos’ หมายถึง ดอกชบา หรือ mallow ส่วนชื่อชนิด คือ rosa-sinensis (specific epithet) ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายถึง ‘Roes of China’ หรือกุหลาบจีน หมายถึงชบา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus rosa-sinensis L. ให้ชื่อโดย Carolus Linnaeus (ค.ศ. 1707 - 1778) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าท้ายชื่อดังกล่าวจะใช้ตัวอักษรย่อ L. ต่อท้าย หมายถึงชื่อบุคคลที่ให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของชบาเป็นคนแรก

          ชบาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงราว 2.5 - 5 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ผิวใบเป็นมันวาว ชบาเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่ โดยทั่วไปสายพันธุ์ดั่งเดิมจะมีกลีบดอกเพียงชั้นเดียว กลีบดอกสีแดง สีชมพู และสีขาว ดอกชบาจะไม่มีกลิ่น ออกดอกตลอดทั้งปี

          ชบามีถิ่นกำเนิดแถบประเทศเอเชียตะวันออก – ประเทศจีน ปัจจุบันได้มีการปลูกชบากันอย่างแพร่หลาย กระจายไปทั่วภูมิภาคเขตร้อน และกึ่งเขตร้อน

          ประโยชน์ของชบา นอกจากมีความงดงามสมดังดั่งถูกขนานนาม และยกย่องให้เป็นราชินีแห่งมวลหมู่ไม้ดอกในประเทศเขตร้อนแล้ว ชบายังเป็นพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย อาทิ

          - เปลือกชบา ใช้เป็นเส้นใย โดยได้จากเปลือกด้านในของชบา (เนื้อเยื่อส่วนที่ใช้ลำเลียงอาหารในพืชหรือ phloem) ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรง สามารถใช้ทอเสื้อผ้า ตาข่ายหรือทำกระดาษ

          - กลีบดอกและใบชบาอ่อน สามารถนำมารับประทานได้ กลีบดอกจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับการทำสลัดหรือจะใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารเพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อยมากยิ่งขึ้น

          - ดอกและใบชบา ทำน้ำมันยามีคุณสมบัติป้องกันการหลุดล่วงของเส้นผม นอกจากนี้ยังเป็นสมุนไพรใช้ทำความสะอาดเส้นผม เพื่อรักษาสีผมอย่างเป็นธรรมชาติ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม

          - ดอกชบา สามารถช่วยดึงดูดผีเสื้อ นกฮัมมิงเบิร์ดและนกซันเบิร์ดได้ เนื่องจากดอกชบามีต่อมสำหรับผลิตน้ำหวาน

          - ดอกชบา ในหลายๆ ประเทศนิยมนำกลีบดอกชบามาทำให้แห้ง เพื่อทำเครื่องดื่ม เช่น น้ำชา (Hibiscus tea) ให้รสชาติดี และไม่มีสารคาเฟอีน ใช้รักษาโรคหอบหืด จะนำดอกชบามาต้มน้ำดื่มใช้บรรเทาอาการไอ ช่วยลดไข้ และรักษาโรคหวัด ใช้เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ และทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

          - ดอกชบา ใช้เป็นสีผสมอาหารที่ได้จากธรรมชาติ

          - ดอกชบา สามารถนำมาใช้เป็นตัวทดสอบความเป็นกรด-เบส (pH indicator) โดยเมื่อนำดอกชบามาทดสอบกับสารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรด ดอกชบาจะเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้นเป็นสีชมพูเข้มหรือสีบานเย็น แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากนำดอกชบามาทดสอบกับสารละลายที่มีฤทธิ์เป็นเบส ดอกชบาจะเปลี่ยนเป็นสีที่อ่อนลงเป็นสีเขียว

          - ชบาดอกสีแดง นิยมนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมากกว่าชบาดอกสีอื่น ๆ และในหลายประเทศก็นิยมใช้ชบาดอกสีแดงโดยเชื่อว่ามีฤทธิ์ทางยาที่มากกว่า

          - ชบา ข้อแนะนำไม่ควรใช้ยาจากชบาในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะอาจจะทำให้แท้งลูกได้

 

และในนานาประเทศนั้น ดอกชบาจะมีประโยชน์ในด้านใดบ้างรอติดตาม Ep. 2/3 นะขอรับ

กวีศิลป์ คำวงค์

 
มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย