เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗ (Ep. 3/5)

  • 14/03/2017
  • จำนวนผู้ชม 7,004 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๗
(Ep. 3/5)

มะลิ กล้วยไม้ราตรี Rafflesia และ Titan Arum ดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซีย

Sambac, Moon Orchid, Rafflesia and Titan Arum, the National Flowers of Indonesia

 

บทความเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 7 นี้ (Ep. 3/5) จะแนะนำให้ได้รู้จักกับกล้วยไม้ราตรี ดอกไม้ประจำชาติของอินโดนีเซียอีกชนิดหนึ่งครับ

             Anggrek Bulan หรือ Moon Orchid เป็นดอกกล้วยไม้พื้นถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติในหมู่มวลไม้ดอกที่มีความสวยงามจนได้รับสมญานามว่า ‘Flower of Charm’ (Indonesian : Puspa pesona) หมายถึงดอกไม้ที่มีความงดงามอันทรงเสน่ห์ที่ทำให้หลงใหล และเป็นดอกกล้วยไม้เมืองร้อนที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จสำหรับการปลูกเลี้ยงได้ในที่ร่ม ‘Anggrek Bulan’ เป็นภาษาพื้นเมืองที่ใช้ในประเทศอินโดนีเซีย คำว่า ‘Anggrek’ ตรงกับคำว่า ‘orchid’ ซึ่งหมายถึงกล้วยไม้ และคำว่า ‘bulan’ ตรงกับคำว่า ‘moon’ ซึ่งหมายถึงพระจันทร์ ชาวไทยจึงเรียกชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า “กล้วยไม้ราตรี” ซึ่งเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ในจำนวนดอกไม้สัญลักษณ์ประจำประเทศอินโดนีเซียทั้ง 4 ชนิด อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชนิดกล้วยไม้มากที่สุดในโลก โดยมีกล้วยไม้ประมาณ 6,000 ชนิด ตั้งแต่กล้วยไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุดอย่าง ‘Anggrek Tebu หรือ Anggrek Raksasa’ หรือว่านเพชรหึงหรือ Tiger Orchid (Grammatophyllum speciosum Blume) ถึงดอกกล้วยไม้ที่มีดอกขนาดเล็กที่สุดอย่างกล้วยไม้สกุลเอื้องไร้ใบ (Taeniophyllum spp.) กล้วยไม้ราตรีเป็นดอกกล้วยไม้ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุดชนิดหนึ่ง เมื่อต้นกล้วยไม้มีความสมบูรณ์และถึงระยะเวลาตามกำหนด ระยะเวลาที่ดอกสามารถบานอยู่ได้นานระหว่าง 2-3 สัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนถ้าอยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม หรือจนกว่าดอกกล้วยไม้จะได้รับการผสมเกสร

           กล้วยไม้ราตรี ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1653 บนเกาะ Amboina ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็ก ๆ นอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเกาะ New Guinea ในประเทศอินโดนีเซีย โดย Georg Eberhard Rumphius (ค.ศ. 1627–1702) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์-เยอรมัน เขาได้บรรยายลักษณะและให้ชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า ‘Angraecum album majus Rumph.’ ไว้ในหนังสือของเขา HERBARIUM AMBOINENSE ในปี ค.ศ. 1750 อีก 2 ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1752 Pehr Osbeck (ค.ศ. 1723–1805) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน (ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Carl Linnaeus) เขาได้เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ที่สำรวจพบในชวา หนึ่งในนั้นเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวกันนี้ แต่พบบนเกาะแห่งใหม่ที่อยู่ท้ายสุดทางทิศตะวันตกของเกาะชวา เพื่อส่งไปให้อาจารย์ของเขา Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707–1778) นักพฤกษศาสตร์ นักสัตวศาสตร์ และนักฟิสิกส์ชาวสวีเดน ผู้บรรยายลักษณะและใช้ชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า ‘Epidendrum amabile L.’ ไว้ในหนังสือของเขา SPECIES PLANTARUM สำหรับในการตีพิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. 1753

             กล้วยไม้ราตรี ถูกนำเข้าไปยังสวนพฤกษศาสตร์ของบริษัท East India ที่เมืองกัลกัตตา (Calcutta) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1798 เพื่อให้ William Roxburgh (ค.ศ. 1751–1815) ศัลยแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอต รวบรวมเข้าไว้ในหนังสือของเขา FLORA INDICA โดยเขาได้ย้ายกล้วยไม้ชนิดนี้ไปอยู่ในสกุล Cymbidium ซึ่งปรากฏชื่อว่า ‘Cymbidium amabile Roxb.’ ในเอกสารหลายฉบับของนักสะสมกล้วยไม้ในช่วงเวลาต่อมา กล้วยไม้ชนิดนี้ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายสำหรับการปลูกเลี้ยงเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับ กว่า 100 ปีตั้งแต่ที่ได้มีการค้นพบกล้วยไม้ราตรีชนิดนี้เป็นครั้งแรก กล้วยไม้ชนิดนี้ได้รับการแนะนำให้โลกได้รู้จักภายใต้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกเปลี่ยนไปอย่างหลากหลายชื่อด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานัปการ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1825 เมื่อ Karl Ludwig Blume (ค.ศ. 1796-1862) นักพฤกษศาสตร์ ชาวดัตช์-เยอรมัน เขาได้ตรวจสอบและเปลี่ยนชื่อสกุลของกล้วยไม้ชนิดนี้อีกครั้ง โดยเขาได้ให้ชื่อสกุลใหม่สำหรับกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า ‘Phalaenopsis’ และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของกล้วยไม้ชนิดนี้ใหม่ว่า ‘Phalaenopsis amabilis (L.) Blume’ ซึ่งเป็นพรรณไม้ต้นแบบ (type specimen) ของกล้วยไม้ในสกุลนี้ ทำให้ยิ่งเป็นชื่อที่รู้จักและเป็นชื่อที่ใช้กันมาเฉกเช่นในปัจจุบัน

         กล้วยไม้ราตรี เป็นพืชดอกที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Phalaenopsis amabilis (L.) Blume’ รู้จักกันในชื่อสามัญว่า ‘Moon Orchid, Moth Orchid, The Lovely Phalaenopsis, White Moth Orchid และ White Moon Orchid’ ในออสเตรเลียเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า ‘Rosenstrom's Phalaenopsis’ (Moth Orchid) ส่วนชาวจีนดั้งเดิมเรียกว่า ‘阿媽, 南洋白花蝴蝶蘭, 蝶蘭, 蝴蝶蘭’ หรือ Mariposa ซึ่งหมายถึง ผีเสื้อกลางคืน (moth) เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ของชาวฟิลิปปินส์ และชื่อเรียกพื้นเมืองในประเทศอินโดนีเซีย อาทิ Anggrek Boelan (Sunda), Anggrek Menur (Java), Anggrek Terbang (Maluku), Anggrek Wulan (Java และ Bali) เป็นต้น

          โดยชื่อกล้วยไม้สกุล Phalaenopsis มาจากคำในภาษากรีก 2 คำ คือ 
          - คำว่า ‘phalaino’ ตรงกับคำว่า ‘moth’ หมายถึง ผีเสื้อกลางคืน และ
          - คำว่า ‘opsis’ ตรงกับคำว่า ‘appearance’ หมายถึง สิ่งที่ปรากฏให้เห็น รูปร่างลักษณะภายนอก
            ชื่อสกุล Phalaenopsis จึงหมายถึงดอกไม้บ้างชนิดที่มีลักษณะคล้ายดั่งผีเสื้อกลางคืน (moth-like)

          ส่วนคำระบุชื่อชนิด amabilis มาจากคำในภาษาละติน 2 คำ คือ
          - คำว่า ‘amo’ ตรงกับคำว่า ‘Lovely’ หมายถึง ที่รัก สวยงาม พริ้มพราย และ
          - คำต่อท้าย ‘-abilis’ หมายถึง น่ารัก
            ชื่อระบุชนิด amabilis จึงน่าจะมีความหมายตรงกับคำว่า ‘lovely, nice, pleasant’ หมายถึงที่รัก อันเป็นที่รัก วิเศษ เป็นที่น่าประทับใจ

          

          กล้วยไม้ราตรี เป็นกล้วยไม้ประเภทอิงอาศัย ในสภาพธรรมชาติจะอาศัยตามคาคบไม้ ลำต้น กิ่งก้านของไม้ยืนต้นสูงหรือบนพื้นหินหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ต่ำของป่าฝนเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะบริเวณที่ป่าเปิดให้แสงอาทิตย์ได้สาดส่องลงมาได้บ้าง หรือในบางครั้งอาจจะอยู่ในพื้นที่ป่าใกล้กับมหาสมุทร ตั้งแต่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 600 เมตร ถึง 1,500 เมตร การกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้ชนิดนี้โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางใต้ของมาเลเซีย (Sabah) เกาะบอร์เนียว (Borneo) อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย (Queensland; ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อย) ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่อากาศชื้น จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย กล้วยไม้ชนิดนี้กระจายตัวในถิ่นที่อยู่อาศัยพื้นถิ่นเป็นบริเวณกว้างในบางเกาะ เช่น เกาะ Java, Kalimantan, Sulawesi, Maluku และเกาะ Papua อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18 องศาเซลเซียส ในตอนกลางคืน ถึง 30 องศาเซลเซียส ในระหว่างวัน ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณร้อยละ 70-85

          กล้วยไม้ราตรี กล้วยไม้ชนิดพันธุ์แท้ ใบเดี่ยว ออกสลับ แผ่นใบเป็นรูปไข่กลับค่อนข้างกว้างและใหญ่ ความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบเหนียวคล้ายแผ่นหนังมีลักษณะ ที่ค่อนข้างฉ่ำน้ำ สีเขียวเข้มเป็นมันวาว ช่อดอกมีขนาดที่แตกต่างกัน ช่อดอกยาวประมาณ 40-100 เซนติเมตร ช่อดอกมักจะโค้งและอาจเป็นช่อเดียวหรือแตกช่อ ที่ห้อยลงมาจากต้นอย่างสง่างาม ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกที่บานเต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร ดอกขนาดใหญ่อย่างโดดเด่นและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาวดั่งน้ำนม (Milky-White) เนื้อกลีบดอกมีเกล็ดสีเงินเป็นประกายระยิบระยับอ่อน ๆ เมื่อต้องแสง กลีบเลี้ยงด้านหลังรูปไข่ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านข้างรูปใบหอกและฐานกลีบเบี้ยวเล็กน้อย กลีบดอกกว้างมากจนเกือบกลม แต่สอบเข้าที่ฐานกลีบ กลีบปากสีขาวน้ำนมมีลักษณะเป็นสามพู กลีบด้านข้างมีลักษณะโค้งเข้าด้านใน บริเวณโคนกลีบเป็นปื้นสีเหลืองและมีจุดสีแดงบริเวณฐานที่สอบแคบ กลีบด้านหน้าสีขาว รูปคล้ายหัวของลูกศร (hastate) บริเวณฐานทั้ง 2 ข้าง เป็นปื้นเห็นเป็นสีเหลือง-แดง ปลายกลีบมีรยางค์ (auricles) 1 คู่ และปลายรยางค์ทั้ง 2 เส้นมีลักษณะม้วนงอ เส้าเกสรสั้น

          กล้วยไม้ราตรี เป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์กล้วยไม้ชนิดพันธุ์แรก ๆ จากภูมิภาคตะวันออกไกล ที่ได้รับการอธิบายรายละเอียดของชนิดพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมปลูกสำหรับเป็นไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นกล้วยไม้ที่มีความโดดเด่นสำหรับการทำพืชสวนประดับ ด้วยความสวยสดงดงาม และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของกล้วยไม้ชนิดนี้ ที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นต้นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ผสมกับกล้วยไม้อื่น ๆ เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้อย่างหลากหลาย ลูกผสมของกล้วยไม้ชนิดนี้จึงนับได้ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงสำหรับกล้วยไม้ประดับในอาคาร กล้วยไม้ใช้สำหรับประดับตกแต่งสวน ตลอดจนถึงการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อการตัดดอก ในปัจจุบันสายพันธุ์ลูกผสมส่วนใหญ่ของกล้วยไม้สกุล Phalaenopsis จำนวนมากมักจะเป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้ชนิดพันธุ์นี้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ลูกผสมใหม่ดอกสีขาวและดอกมีขนาดใหญ่ ในขณะที่การปรับสีขาวและรูปแบบของกล้วยไม้ลูกผสมในสกุลนี้ เกือบทั้งหมดที่ถูกผสมขึ้นมาล้วนเกิดขึ้นมาจากการเลือกกล้วยไม้ชนิดนี้หรือกล้วยไม้ที่มีความคล้ายกันมาก ๆ หรือมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกันกับกล้วยไม้ชนิดนี้ กล้วยไม้สกุล Phalaenopsis ทั่วโลกมีอย่างน้อย 60 ชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ลูกผสมประมาณ 140 สายพันธุ์ ซึ่งเฉพาะสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากชนิดพันธุ์กล้วยไม้ราตรีในประเทศอินโดนีเซียมีมากถึง 60 สายพันธุ์ จึงนับได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย สำหรับใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดจนนำมาจัดตกแต่งภายในบ้านทำให้บรรยากาศสดชื่น นอกจากนี้กล้วยไม้ราตรียังสามารถช่วยทำความสะอาดอากาศภายในบ้านให้สะอาดขึ้น โดยจะกำจัดสารระเหยจากสารประกอบอินทรีย์ (VOCs; volatile organic compounds) และฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ที่มักจะระเหยออกมาจากสีทาบ้าน ตัวทำละลาย และวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ และแม้แต่ขณะที่ดอกของกล้วยไม้ราตรีหลุดร่วงเสียแล้วหมดสิ้น ต้นและใบของกล้วยไม้ชนิดนี้ก็ยังคงงดงามอย่างน่าหลงใหลอยู่ทีเดียวเชียว จากความนิยมกล้วยไม้ราตรีและกล้วยไม้สายพันธุ์ลูกผสมของกล้วยไม้ราตรีที่มีอย่างหลากหลายในปัจจุบัน ทำให้เป็นการยากที่จะหากล้วยไม้ราตรีชนิดพันธุ์ที่แท้จริง แม้แต่ในสภาพธรรมชาติเองความงดงามที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นและความสำคัญของกล้วยไม้ชนิดนี้กับยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น จึงทำให้จำนวนประชากรของกล้วยไม้ราตรีในสภาพธรรมชาติลดจำนวนลง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทั้งโดยตรงหรือผลกระทบทางอ้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยพื้นถิ่น การรุกรานของพืชต่างถิ่น การลักลอบเก็บกล้วยไม้ป่า และการค้าขายกล้วยไม้อย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนขีดจำกัดในการพัฒนาศักยภาพสำหรับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการที่กล้วยไม้ราตรีถูกคุกคาม สถานะของการอนุรักษ์พรรณไม้ในประเทศอินโดนีเซียจึงได้จัดให้กล้วยไม้ราตรีอยู่ในพรรณไม้ประเภทพืชที่มีการป้องกัน และนี้ก็คงเป็นการกระทำที่พยายามจะรักษาชีวิตของกล้วยไม้ชนิดนี้ไว้อีกทางหนึ่ง

                 

                                                                                                                                                   “หนึ่งในนั้นไม้ดอก
        กล้วยไม้ ราตรี
                                                                                                                                            ผลิช่อขาวงามใน
        หมู่ไม้
                                                                                                                                            สมดั่งพญาหงส์ไพร
        งามสง่า
                                                                                                                                            จันทร์ดั่งคืนเพ็ญไซร้
        สว่างฟ้าค่ำคืน”   

 

ตอนหน้า Ep. 4/5 จะได้รู้จักกับพันธุ์ไม้แปลกและหายยากมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก ติดตามตอนต่อไปขอรับ

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย