“มะลิ” ร้อยมาลัยรัก ถวายฯ ภักดิ์ ราชสดุดี

  • 18/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 2,993 คน

“มะลิ” ร้อยมาลัยรัก ถวายฯ ภักดิ์ ราชสดุดี

 

     “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ธ สถิตในดวงใจไทยทั่วหล้า
พระบรมราชินีนาถของปวงประชา แปดสิบพรรษามหาราชินี
พระราชกรณียกิจ ธ ทรงกอปร ทั่วเขตรอบแดนดินสยามศรี
ทั่วโลกล้วนแซ่ซ้องพระบารมี สดุดีพระมิ่งขวัญผองทวยไทย
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เกษมศานต์สุขสวัสดิ์สมสมัย
น้อมพระราชเสาวนีย์พิพัฒน์ไทย ขอเทิดไท้คู่ขวัญองค์ภูมินทร์”

          

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพในวันศุกร์ ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๙๔ และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สิริกิติ์" ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร” (พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร)

          นับเวลาย้อนไป ๖๐ กว่าปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงกอปรพระราชกรณียกิจ เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จวบจนวันนี้ วันที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็มิได้เคยหยุดยั้งซึ่งพระราชกรณียกิจ อันที่จะได้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรของพระองค์มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จ ณ แห่งหนตำบลใด พระองค์ก็จะโดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยแทบทุกครั้ง ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะไกลแสนไกล จะยากลำบากมากน้อยเพียงใด สมดังพระราชสมัญญานามที่ปวงชนชาวไทยถวายแซ่ซ้องสรรเสริญ “พระแม่แห่งแผ่นดิน และพระมารดาแห่งการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ” พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อปวงพสกนิกร ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพรรณพืช ด้วยพระอัจฉริยภาพ โครงการพระราชดำริต่างๆ จึงเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ช่วยกันหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินให้เป็นมรดกตกทอดสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน อาทิโครงการศิลปาชีพ โครงการยามชายแดน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ฟาร์มตัวอย่าง ป่ารักน้ำ คืนกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ และสวนพฤกษ์ศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯลฯ

          แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ ๑๕ เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงานวันแม่เป็นครั้งแรกนั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ประชาชนให้การสนับสนุน จนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่า “วันแม่ของชาติ” ต่อมาทางราชการได้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

          และเหตุผลที่ให้ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ เนื่องจากดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกล และหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย

          มะลิ มีชื่อที่ใช้เรียกกันตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น ข้าวแตก (คนเงี้ยว) และมะลิหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เตียมูน (คนละว้า) และ มะลิขี้ไก่ จังหวัดเชียงใหม่ มะลิป้อม ภาคเหนือ มะลิซ้อนหรือมะลิลา แถบจังหวัดในภาคกลาง ชื่อสามัญของมะลิ คือ Jasmine และมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Jasminum sambac (L.) Aiton เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ OLEACEAE

          มะลิเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดกลาง แตกกิ่งออกรอบๆ ลำต้น สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน ใบรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นลอน ผิวใบเรียบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่งประมาณ ๓ – ๕ ดอก แล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นเส้นเรียวแหลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๖ – ๑๐ แฉก กลิ่นจะหอมเย็นๆ ทั้งวันทั้งคืน มะลิออกดอกตลอดปี มีทั้งชนิดกลีบซ้อนหลายชั้น เรียกว่า “มะลิซ้อน” หรือ “มะลิหลวง” และ ชนิดดอกลาหรือ มะลิลา กลิ่นจะหอมกว่ามะลิซ้อน ดอกมะลิลาจะทยอยบาน และส่งกลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน แล้วจะไปโรยตอนช่วงบ่ายวันถัดไป ส่วนมะลิซ้อนจะทยอยบานนานหลายวัน

          มะลิเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด นิยมปลูกกลางแจ้งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ต้องการน้ำปานกลาง ดินร่วนซุย ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิด แถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรนั้น
          - ดอก มีรสหอมเย็นขม ดับพิษร้อน บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เจ็บตา ดอกแห้ง ปรุงเป็นยาหอม จัดอยู่ในเกสรทั้ง ๕ ทำให้จิตใจชุ่มชื้น แก้ไข้
          - ใบ ใบสด มีรสเย็นฝาด ตำกับกากมะพร้าวก้นกะลา พอกหรือทาแก้แผลพุพอง แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษฝีดาษ ใช้ยอด ๓ ยอด ตำพอกหรือทาลบรอยแผลเป็น

 

หมายเหตุ นอกจากดอกมะลิจะเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ในประเทศไทยแล้ว ดอกมะลิยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

 

     “หอมหวลอวลกลิ่น มะลิ ขาว เจ้างามราวพราวสะอาดสิเน่หา
บริสุทธิ์ผุดผ่อง มะลิลา อันชื่อว่า มะลิซ้อน คะนึงครวญ
มะลิป้อม ข้าวแตก มะลิขี้ไก่ เฝ้าฝันใฝ่ เตียมูน กรุ่นกลิ่นหวล
มะลิหลวง อบอวลชื่นใจชวน รักรัญจวนเปรียบพระคุณแม่มิคลาย”

 

กวีศิลป์ คำวงค์

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย