Plam Story ตอนที่ 1

  • 14/05/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,891 คน

ปาล์ม (Palm)

          ปาล์มจัดอยู่ในวงศ์ ARECACEAE นับเป็นพืชวงศ์ใหญ่ที่สุดรองจากวงศ์หญ้า (POACEAE) ทั่วโลกจำแนกได้กว่า 210 สกุล (Genus)  ราว 3,800 ชนิด(Species)  แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นประมาณ 71 สกุล (Genus)  155 ชนิด (Species)  และอีก 1 ชนิด (Species) พบเฉพาะในประเทศไทย คือ ปาล์มพระยาถลาง หรือชิงหลังขาว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบทางภาคใต้โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย

          อุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้รวบรวมปาล์มไว้ 70 สกุล (Genus) 140 ชนิด (Species) 19 พันธุ์ (Variety) ซึ่งจัดแสดงไว้บริเวณสวนปาล์ม เรือนร่มไม้ และริมบึงหอเขียว ปาล์มเป็นพืชที่มีทั้งลำต้นเดี่ยวและแตกกอ ใบออกเวียนรอบต้น ใบมีทั้งใบเดี่ยวและใบประกอบ รูปทรงต่างกันดังนี้ รูปหางปลา เช่น ปาล์มไพลิน รูปพัดจักเว้าตื้น เช่น ปาล์มจีบ ปาล์มเจ้าเมืองตรัง รูปพัดจักเว้าลึกครึ่งใบ เช่น ตาล ปาล์มพระยาถลาง รูปพัดจักเว้าถึงสะดือ เช่น กะพ้อ รูปพัดแกนโค้ง เช่น ตาลฟ้า ตาลกิ่ง รูปขนนก เช่น หมากเหลือง รูปขนนกสองชั้น เช่น เต่าร้าง รูปเหลี่ยม เช่น บังสูรย์ และรูปขนนกเป็นพวง เช่น ปาล์มหางกระรอก เป็นต้น

 

          ปาล์ม เป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย สมัยก่อนนิยมใช้ใบปาล์มในการมุงหลังคา กันแดด กันฝน จึงเป็นที่มาของคำว่า หลังคามุงจาก เนื่องจากในอดีตคนไทยใช้ "ตับจาก" ที่ทำจากใบจาก (เป็นปาล์มเพียงชนิดเดียวที่เป็นพืชในป่าชายเลน) มามุงหลังคา ช่วยให้อากาศภายในบ้านเย็นสบาย แต่เมื่อเวลา “ตับจาก” เหล่านี้โดนแดด ใบจากหรือใบปาล์มที่ถูกเย็บเรียงติดๆ กัน เรียกว่า ตับ มันจะแตกหรือโก่งตัวเบียดกันระหว่างใบในตับ ทำให้เกิดเสียงดังเปรี๊ยะ คนโบราณเอามาเป็นตัววัดว่า ถ้าวันไหนได้ยินเสียงของตับที่มุงหลังคาบ้านแตกดังเปรี๊ยะเมื่อไร วันนั้นจะถือว่าร้อนมากๆ ที่มาของคำว่า ร้อนตับแตก ปัจจุบันใบปาล์มที่นิยมใช้ในการเย็บตับก็มีหลากหลาย เช่น ค้อ (สิเหรง) ทัง สาคู เป็นต้น

 

ซึ่งในตอนนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวของปาล์มพระยาถลาง (White elephant palm) Kerriodoxa elegans J.Dransf. 

 

          ปาล์มพระยาถลาง ชิงหลังขาว หรือทังหลังขาว มีเพียงชนิดเดียวในโลกพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น”เป็นปาล์มเฉพาะถิ่นที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย ในป่าดิบชื้น อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งชาวต่างชาติรู้จักในนาม “ปาล์มช้างขาว” จัดว่าเป็นปาล์มที่หายาก ชื่อสกุล Kerriodoxa ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ A.F.G. Kerr นายแพทย์ชาวไอริส ผู้บุกเบิกวงการพฤกษศาสตร์ของไทย ส่วนชื่อชนิด elegans มาจากภาษาละติน หมายถึง ความสง่างาม ซึ่งอธิบายถึงลักษณะทรงพุ่มที่สวยงามของปาล์มสกุลนี้ ความโดดเด่นของปาล์มชนิดนี้คือใบรูปพัดกลมขนาดใหญ่ ใบเป็นรอยพับจีบเหมือนพัดจักเว้าลึกครึ่งใบ ด้านบนใบมีสีเขียวเป็นมัน ส่วนใต้ใบมีนวลสีขาวปกคลุมเหมือนมีผงชอล์กเคลือบอยู่ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า ชิงหลังขาว หรือทังหลังขาว นั่นเอง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมความงามของปาล์มพระยาถลาง ได้ที่เรือนร่มไม้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

เอกสารอ้างอิง

พูนศักดิ์ วัชรากร. ปาล์มและปรงในป่าไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน, 2548.

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. คู่มือปาล์มประดับ. ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านและสวน, 2550.

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1_(%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A)

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย