ชนิดความหอม...จากไม้หอม

  • 08/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,544 คน

ชนิดความหอม...จากไม้หอม (Different types of fragrances)

          กลิ่นหอมดอกไม้ ใครๆ ก็ชื่นชอบ อยากเข้าไปดอมดมแบบชิดใกล้ สำหรับกลิ่นหอมที่เราต้องโน้มตัวเข้าไปดมที่ดอกถึงจะได้กลิ่น เรียกว่า “กลิ่นหอมอ่อน” ส่วนกลิ่นหอมที่ขจรขจายฟุ้งไปได้ไกลนั้น เรียกว่า “กลิ่นหอมแรง”  พรรณไม้ดอกหอม จึงมีจุดเด่นที่กลิ่น เราจะได้กลิ่นหอมของดอกไม้ก็ต่อเมื่อดอกไม้บาน เพราะมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil หรือ Volatile Oil) ที่พืชผลิตไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตซึ่งประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด ดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีน้ำมันหอมระเหยที่แตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ จึงทำให้ดอกไม้มีกลิ่นที่ต่างกันไป ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในต่อมหรือเซลล์พิเศษที่แทรกกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ฐานรองดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียของดอก และเมื่อดอกบานสารเหล่านี้จะระเหยออกมาทำปฏิกิริยากับอากาศ เกิดกลิ่นหอมที่ทำให้จมูกสามารถรับกลิ่นได้

          ไม้ดอกหอม ที่มีกลิ่นหอมอ่อน เช่น ไข่ดาว กระทิง แก้วเจ้าจอม แย้มปีนัง ชำมะนาด โมกเหลือง มหาพรหมราชินี พุดตาน กลิ่นหอมแรง เช่น กระดังงาจีน การเวก พุดซ้อน ประยงค์ ราชาวดี นมหนูเตี้ย และลำดวน นอกจากนี้ยังมี “กลิ่นหอมหวาน” เช่น จำปีปาร์ตี้ พรหมขาว และกลิ่นหอมเย็น เช่น รสสุคนธ์แดง มะลิ อีกด้วย ทั้งนี้ช่วงเวลาการบานของดอกก็ส่งผลต่อการส่งกลิ่นด้วยเช่นกัน บางชนิดบานเวลาเย็น พลบค่ำหรือตอนเช้า บ้างก็ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา บ้างก็ส่งกลิ่นเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น อีกทั้งบางชนิดบานหลายวัน บางชนิดก็บานแค่วันเดียวก็โรย

          ยกตัวอย่างไม้ดอกที่ส่งกลิ่นหอมช่วงพลบค่ำ เช่น กรรณิการ์  ชำมะนาด นมแมว พุดซ้อน กลาย เป็นต้น ไม้ดอกที่ส่งกลิ่นหอมในยามเช้าตรู่ เช่น กระดังงา กระทิง ปีบ ส่วนไม้ดอกที่ส่งกลิ่นหอมตลอดวัน เช่น ทิวาราตรี พิกุล จำปีแขก เป็นต้น ใครที่อยากสัมผัสกลิ่นหอมของดอกไม้ตามช่วงเวลาหรือแม้แต่อยากเอาไปปลูกไว้ที่บ้าน ก็สามารถเยี่ยมชมและสูดดม กลิ่นหอมอ่อน กลิ่นหอมแรง กลิ่นหอมหวาน และกลิ่นหอมเย็น ตลอดจนศึกษาวิธีการปลูกไม้หอมชนิดต่างๆ ได้ ภายในสวนไม้หอม อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เวลา 8.00 – 18.00 น. ได้ทุกวัน หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ โทรศัพท์เบอร์ 053 114 195

เอกสารอ้างอิง

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. พรรณไม้วงศ์กระดังงา. กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2. บ้านและสวน, 2548.

http://www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/homklin/chomsuan.htm

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย