ชันโรงผึ้งจิ๋วประโยชน์ไม่จิ๋ว : หมอยาชันโรง

  • 08/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 9,260 คน

ชันโรงผึ้งจิ๋วประโยชน์ไม่จิ๋ว ตอน ..หมอยาชันโรง

ในบทความครั้งที่แล้วเราได้รู้จักกับ “ชันโรง” ไปบ้างแล้ว คราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชันโรงในแง่ของการเป็นหมอยามาแต่โบราณกาล

สมัยโบราณนั้นมนุษย์มักสังเกตพฤติกรรมของชันโรงที่ออกเก็บรวบรวมชันผึ้ง (Propolis) ในทุกๆ วัน ซึ่งชันโรงจะออกหากินในระยะที่ไม่เกิน 300 เมตร ประกอบกับความเชื่อที่ว่ากันว่าชันโรงมีความสามารถในการเลือกพืชที่มีสารนำมาฆ่าเชื้อโรคภายในรังของพวกมันได้ มนุษย์จึงนิยมปลูกพืชสมุนไพรที่ต้องการทำเป็นยารักษาโรคมาปลูกรอบๆ บริเวณรังของชันโรง เพื่อให้เหล่าชันโรงได้เก็บเกสรและน้ำหวานจากพืชสมุนไพรนั้น เมื่อมนุษย์นำผลิตผลจากชันโรงไม่ว่าจะเป็นเกสรผึ้ง หรือน้ำหวานมารับประทานก็จะมีสรรพคุณทางยาตามพืชสมุนไพรที่ปลูกไว้บริเวณรอบๆ รัง หากนำน้ำผึ้งจากชันโรงมาผสมกับพืชสมุนไพร ก็จะมีสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น

ผศ.ดร.วนิดา อ่วมเจริญ และ ผศ.ดร.ชามา พานแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงชันโรงไว้ในงานวิจัยว่า “คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์ของผลผลิตตัวชันโรงที่ได้มาจากการเก็บรังชันโรงตามธรรมชาติมานาน การใช้น้ำผึ้งเป็นองค์ประกอบของยา สมุนไพร เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีคุณค่าทางยาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประโยชน์จากชันของชันโรง ชัน หรือ พรอพอลิส (Propolis) ของชันโรง มีการผลิตชันของยางไม้ที่ชันโรงเก็บมาจากต้นพืชหลากหลายชนิด นำมาผสมรวมกับไขผึ้งที่ชันโรงผลิตขึ้นจากภายในลำตัวชันโรง ชันก็เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีผลในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันมีการนำชันมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ รักษาการอักเสบของผิวหนัง ทำเป็นยาหม่อง ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟันแชมพูสระผม เป็นต้น” นอกจากนี้น้ำผึ้งจากชันโรงยังมีราคาที่สูงกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์มาก เนื่องจากชันโรงมีนิสัยเก็บน้ำหวานแค่ 20 % และเก็บเกสรถึง 80 % ซึ่งต่างจากผึ้งที่มีนิสัยเก็บน้ำหวาน 50 % เก็บเกสรอีก 50 % ทำให้การเลี้ยงชันโรงในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์หลักคือการเลี้ยงเพื่อผสมเกสร ไม่ใช่เพื่อการเก็บน้ำหวาน แต่อย่างไรก็ตามน้ำผึ้งจากชันโรง ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ และมีราคาสูง

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จึงได้มีการอนุรักษ์ชันโรงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำคณะเข้าศึกษาเรียนรู้ชันโรง และร่วมกันขยายรังเพื่อเพิ่มจำนวนชันโรงในด้านของอุตสาหกรรมเกษตร และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ส่วนในครั้งต่อไปนั้น เราจะพาไปหาคำตอบของบทบาทชันโรงในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรว่าแมลงจิ๋วเหล่านี้สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผลไม้ไทยได้อย่างไรกัน

 

 อ้างอิง https://www.thairath.co.th

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย