พรรณไม้ในขวด...โตได้อย่างไร
ลองนึกสภาพต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ในขวด มีพื้นที่แคบทั้งความกว้างและความสูง แถมยังมีฝาปิดแบบสนิทอีกต่างหาก จะเจริญเติบโตได้ยังไง เอาสารอาหารมาจากไหน รดน้ำยังไง เพราะต้นไม้ที่เราเห็นโดยปกติแล้ว จะอาศัย ดิน น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีต่างๆ ทั้งในดินและทางอากาศ เพื่อทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต แต่ต้นไม้ที่มีการมีสภาพแวดล้อมที่ต่างไป อาศัยอยู่ในขวดพื้นที่แคบๆ จะเติบโตได้อย่างไร ไขข้อข้องใจได้ทางนี้ค่ะ
"ไม้ขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่ง แต่มีการปฏิบัติภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุม สภาพแวดล้อมที่ควบคุม คือ อุณหภูมิและแสง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องความสะอาดแบบปลอดเชื้อและความใจเย็น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการผลิตไม้ในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นมาดูว่าส่วนไหนของพืชจะสามารถเติบโตในขวดแก้วได้บ้าง ซึ่งหลักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะเลือกส่วนของพืชที่มีชีวิตที่สามารถเจริญและพัฒนาเป็นพืชต้นใหม่ได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น ส่วนยอด ส่วนตาข้าง เมล็ด เป็นต้น แล้วต้องใช้ดินปลูกเหมือนพืชทั่วไปหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ใช้ แต่เราจะใช้อาหารสังเคราะห์ ที่มีแร่ธาตุจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเกลืออินทรีย์ สารอินทรีย์ วิตามินและกรดอะมิโน สารควบคุมการเจริญเติบโต และน้ำตาล ซึ่งเปรียบเสมือนดินปลูกสำหรับการผลิตไม้ขวดเพาะเนื้อเยื่อ และเมื่อพืชนั้นเจริญเติบโตได้ในขวด ก็จะสามารถนำย้ายออกปลูกในสภาพแวดล้อมปกติได้ โดยวิธีการนำพืชออกจากในขวดเพื่อย้ายปลูกลงดินนั้น จำเป็นต้องรักษาสภาพแวดล้อมด้วยการคลุมถุงพลาสติกประมาณหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้พืชจากไม้ขวดปรับสภาพตัวเองก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในสภาพธรรมชาติทั่วไปได้
ปัจจุบันไม้ขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นิยมนำมาเป็น "Wedding love Gift" ของชำร่วยที่แสนพิเศษของคู่รักที่มีคอนเซปต์แนวอนุรักษ์ธรรมชาติ แถมเลี้ยงง่าย ไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ย ไม่ต้องเปิดฝาตากแดด เลี้ยงไว้ในขวดปลอดเชื้อในรูปแบบเจลหรือวุ้น โดยต้นไม้ที่ใช้ล้วนเป็นไม้มงคล เช่น ออมเงิน ออมทอง แก้วสารพัดนึก หยาดน้ำค้าง เบบี้โรส และถุงเงินถุงทอง เป็นต้น และหากใครสนใจไม้ขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น หยาดน้ำค้าง หม้อข้าวหม้อแกงลิง เดฟกระเป๋า กุหลาบจิ๋ว ในราคา ขวดละ 80 บาท สามารถติดต่อหรือหาซื้อที่ร้านขายของที่ระลึก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้จัด หรือสนใจเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โทรศัพท์เบอร์ 053 114 195
ข้อมูลอ้างอิง
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2549.
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกับงานขยายพันธุ์. กรมส่งเสริมการเกษตร. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2546.