ใครเอ่ย ? ผู้สลายเศษขยะให้เป็นปุ๋ยหมัก

  • 24/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 2,856 คน

ใครเอ่ย ? ผู้สลายเศษขยะให้เป็นปุ๋ยหมัก

          เคยสงสัยหรือไม่ว่า เวลาเรานำเศษใบไม้ หญ้า และต้นไม้ต่างๆ มาทำปุ๋ยหมักแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไป อะไรทำให้เศษขยะเหล่านี้จะถูกแปรสภาพให้เป็นวัสดุคล้ายดินที่ร่วนซุย สีดำ ไม่มีกลิ่น หรือที่เราเรียกกันว่า “ปุ๋ยหมัก” ซึ่งกระบวนการย่อยสลายนี้เกิดจากการทำงานอย่างหนักของ “เชื้อจุลินทรีย์” ขนาดเล็กที่เราไม่สามารถส่องเห็นได้ด้วยตาเปล่านั่นเอง เชื้อเหล่านี้มีอะไรบ้าง เราไปทำความรู้จักกันเลยครับ

       1. แบคทีเรีย เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมาก หากส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็จะพบว่ามีรูปร่างที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ทรงกลม ทรงกระบอก และแบบเกลียว ซึ่งแบคทีเรียนี้มีจำนวนมากที่สุด ทนต่อความร้อนและสภาพความเป็นกรด-ด่าง อาศัยอยู่ในกองปุ๋ยที่มีออกซิเจน และไม่มีออกซิเจน ทำให้แบคทีเรียมีบทบาทสำคัญที่สุดในการย่อยสลายเศษขยะ

    2. เชื้อรา เราสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นเส้นใยสีขาวปกคลุมบริเวณผิวของกองปุ๋ยหมักที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร สาเหตุที่เชื้ออยู่ด้านบนกองปุ๋ยหมักนั้นเพราะเชื้อราต้องการออกซิเจนในการดำรงชีพนั่นเอง แต่มีความสามารถในการใช้เส้นใยและปลดปล่อยเอนไซม์ช่วยย่อยสลายเศษขยะ

        3. แอคติโนมัยซีส มีลักษณะรูปร่างและการเจริญเติบโตโดยการแตกแขนงเป็นเส้นใยและสร้างสปอร์คล้ายเชื้อรา เพียงแต่เส้นใยมีขนาดเล็กและสั้นกว่าเชื้อรามาก ลักษณะเชื้อที่พบคือ เป็นจุดสีขาวคล้ายผงปูน

      นอกจากเชื้อแบคทีเรียข้างต้นแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุเหล่านี้อีก ได้แก่ กิ่งกือ ไส้เดือนดิน ไส้เดือนฝอย โปรโตซัว ตัวอ่อนของด้วงแรดมะพร้าว ด้วงกว่าง และด้วงดอกไม้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะกินเศษซากพืชเป็นอาหาร และปลดปล่อยเป็นธาตุอาหารพืชออกมาในปุ๋ยหมัก

     สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้วิธีการกำจัดขยะเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมัก และการทำน้ำหมักชีวภาพ โดย “เชื้อจุลินทรีย์” สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ที่ฐานเรียนรู้ดินและปุ๋ย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053 114 195

อ้างอิงรูปภาพ

http://www.actino.jp/DigitalAtlas/subwin.cgi?target=5-39

https://realtimelab.com/molds/aspergillus-flavus/

https://www.researchgate.net/figure/Bacillus-spp-morphology-visualised-using-Gram-staining-10-magnification_fig1_266028804

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย