ปทุมมา “ราชินีป่าฝน”

  • 30/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 2,138 คน

ปทุมมาราชินีป่าฝน

หากพูดถึงพืชกลุ่มขิง ข่า (วงศ์ขิง ZINGIBERACEAE) ที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดีว่าถูกนำมาใช้เป็นทั้งผัก เครื่องเทศในน้ำพริก เช่น ขมิ้น (Curcuma longa) ขิง (Zingiber officinale) สมุนไพรประจำบ้าน เช่น ขมิ้นดำ (Curcuma aeruginosa) ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa) และบางชนิดมีความผูกพันกับชาวไทยในด้านความเชื่ออีกด้วย เช่น ว่านนางคำ (Curcuma aromatica) และว่านมหาอุดม (Curcuma cochinchinensis) แต่วันนี้เราจะนำเสนอพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มนี้ที่ได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายด้านทั้งเป็นพืชอาหารเลิศรสของชาวบ้านท้องถิ่น เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ดอกประดับแปลงที่มีความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึงพืชกลุ่มปทุมมา และกลุ่มกระเจียว นั่นเอง

ปทุมมา และกระเจียว เป็นพืชในสกุลเดียวกับขมิ้น แต่เดิมนั้นกระเจียว (Curcuma sessilis) เป็นพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่น ภาคอีสานจะเรียก กระเจียวแดง หรือกระเจียวโคก ภาคเหนือเรียก อาวแดง หน่ออ่อน ดอกอ่อนใช้เป็นผักสดลวกหรือรับประทานกับน้ำพริก หรือปรุงเป็นอาหาร ซึ่งภายหลังทั้งกระเจียวและปทุมมาได้ถูกใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ที่สามารถค้าขายได้ทั้งภายในและต่างประเทศ  จากความสวยงามของดอกที่เหมือนทุ่งของดอกทิวลิปนั้น ทั้งสองกลุ่มจึงถูกเรียกรวมเป็น Siam tulip หรือ Summer tulip ซึ่งในประเทศไทย เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน กระเจียวจะชูช่อบานเต็มลานอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ และจัดเป็นเทศกาลชมกระเจียวประจำปี และเป็นที่มาของสมญานาม ราชินีป่าฝน 

แต่.. กระเจียวและปทุมมาที่เรามักจะเรียกรวมกันว่า “ปทุมมา” และเข้าใจว่าเป็นพืชชนิดเดียวกันนั้น แท้จริงแล้วเป็นพืชคนละชนิดกัน !!! ในเรื่องราวตอนหน้าเราจะมาตั้งข้อสังเกตและไขข้อสงสัยกันว่ากระเจียวและปทุมมาแตกต่างกันอย่างไร

และตลอดช่วงฤดูฝนของทุกปี ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้รวบรวมปทุมมาที่สวยงามหลากหลายสายพันธุ์ประดับภูมิทัศน์ให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เที่ยวชม ร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ผ่านสวนสวยและความหลากหลายทางชีวภาพได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง

          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2552. พืชกินได้ในป่าสะแกราช เล่มที่ 2. หน้า 167-168.

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 2551. พืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1. บริษัท ทรีโอ แอด  เวอร์ไทซิ่ง  แอนด์มีเดีย จำกัด:เชียงใหม่.

          จรัญ มากน้อย และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์. 2555. พืชสกุลขมิ้นในประเทศไทย. องค์การสวนพฤกษศาสตร์.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย