ปทุมมา vs กระเจียว

  • 03/07/2020
  • จำนวนผู้ชม 15,398 คน

ปทุมมา EP.2  ปทุมมา vs กระเจียว สองพี่น้องที่ทำให้หลายคนสับสน

ปทุมมา....กระเจียว ที่ทำให้หลายคนสับสนว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน !!!

จากที่กล่าวไปในตอนที่แล้วถึง “ปทุมมา” จากสมุนไพร พืชอาหารในระดับท้องถิ่น สู่ไม้ตัดดอก ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ที่นิยมปลูกประดับ จัดตกแต่งภูมิทัศน์ ด้วยรูปร่างของช่อดอกที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันที่หลากหลายของใบประดับในแต่ละพันธุ์  ปทุมมานั้นมีแหล่งผลิตที่สำคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดเลย ปทุมมาได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้คนรู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อที่น่าสับสนไม่น้อยสำหรับชื่อ “ปทุมมา” กับ “กระเจียว” ที่ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าตกลงคือพืชชนิดเดียวกันหรือไม่ ความแตกต่างของชื่อที่เรียกนั้นเรียกตามอะไร !!!  วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้กัน

ลักษณะแรกที่เห็นได้เด่นชัดนั้นคือ ก้านช่อดอก จะสังเกตได้ว่า กลุ่มกระเจียว ก้านช่อดอกสั้น ทำให้ช่อดอกอยู่ในระดับเดียวหรือต่ำกว่าทรงพุ่ม ช่อดอกไม่ได้ชูโดดเด่นเหมือนกลุ่มปทุมมาที่มีก้านช่อดอกยาว กว่าความสูงทรงพุ่ม ลักษณะถัดมาคือ ลักษณะสีของดอก (ดอกที่เราพูดถึงนี่คือดอกจริงขนาดเล็กซึ่งอยู่ในซอกใบประดับที่มีสีสันต่างๆ ที่เรามองเห็นชัดเจนนั่นเอง) กลีบปากและกลีบสเตมิโนด (ส่วนของเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน) ของกลุ่มปทุมมามีสีขาว หรือสีม่วงแดง ส่วนในกลุ่มกระเจียวจะเป็นสีขาวหรือสีเหลือง

แต่ในภายหลังได้มีการเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ และเพื่อตรงตามความต้องการของตลาด จึงมีการวิจัย ผสมพันธุ์ระหว่างปทุมมาพันธุ์ต่างๆ ทั้งในสกุลย่อยเดียวกัน หรือต่างสกุลย่อย ลักษณะเด่นของพืชสกุลขมิ้น (Curcuma) แต่ละกลุ่ม รวมถึงกลุ่มกระเจียวและกลุ่มปทุมมา ได้ถูกแลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ให้เกิดพันธุ์ปทุมมาลูกผสมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย

เริ่มน่าสนใจขึ้นแล้วใช่ไหมคะ …. ในเรื่องราวของปทุมมาตอนหน้าใครที่อยากปลูกปทุมมา เราจะมาบอกเทคนิควิธีปลูก ดูแล และการขยายพันธุ์ของปทุมมากัน อย่าลืมติดตามนะคะ

และตลอดช่วงฤดูฝนของทุกปี ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้รวบรวมปทุมมาที่สวยงามหลากหลายสายพันธุ์ประดับภูมิทัศน์ให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เที่ยวชม ร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีดีผ่านสวนสวยและความหลากหลายทางชีวภาพได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

 

ข้อมูลอ้างอิง

จรัญ มากน้อย และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์. 2555. พืชสกุลขมิ้นในประเทศไทย. องค์การสวนพฤกษศาสตร์.

ธีรนิติ พวงกฤษ. 2555. การศึกษาการปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาโดยการผสมข้ามชนิดระหว่างพืชในกลุ่ม Eucurcuma และ Paracurcuma. วิทยานิพนธ์. มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

สถาพร สุขจิตร ช่อทิพา สกูลสิงหาโรจน์ นฤมล เข็มกลัดเงิน และ เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี. 2562. การประยุกต์ใช้เครื่องหมายไอเอสเอสอาร์เพื่อตรวจสอบการเป็นลูกผสมข้ามชนิดระหว่างปทุมมาและกระเจียว. Thai journal of science and technology, ปีที่ 8 ฉบับที่ 3. น. 287-299.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย