อยากปลูก เพิ่มจำนวน "ปทุมมา" บ้าง ต้องทำอย่างไร

  • 22/07/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,204 คน

ปทุมมา ตอนที่ 3 ปลูก-ดูแลรักษา-ขยายพันธุ์

เราได้รู้จัก ปทุมมา กันมาแล้วจากตอนที่ 1 และ 2 คราวนี้ตอนที่ 3 นี้ มาดูกันว่า จะมีวิธีการปลูกดูแลรักษา รวมถึงการขยายพันธุ์ ว่ามีขั้นตอนยังไงบ้างนะคะ มาเรียนรู้พร้อมกันได้เลย!!!

โดยปกติแล้วปทุมมาจะบานสะพรั่งตามสภาพธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ดังนั้นการลงปลูกหัวพันธุ์ปทุมมาจึงเริ่มได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน บานหน้าฝนและจะพักตัวในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ปทุมมาเมื่อต้นแห้งเต็มที่และยุบตัวลง  โดยสังเกตจากใบจะมีสีเหลืองและแห้ง  ควรงดน้ำให้ดินแห้งก่อน อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้อาหารเคลื่อนย้ายจากใบไปสู่หัว ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วในขณะที่ต้นยังแก่ไม่เต็มที่ ใบยังตั้งตรงและดินยังมีความชื้นอยู่ จะทำให้หัวพันธุ์ที่ขุดเหี่ยวเร็ว เก็บรักษาได้ไม่นานและมีความงอกต่ำ และควรเก็บในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทดี เมื่อเราได้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการเตรียมดินค่ะ โดยจะต้องเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินที่ระบายน้ำได้ดี  ถ้าในกรณีปลูกในแปลงต้องใส่ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอกและต้องตากดินประมาณ 10-14 วัน โดยใช้พลาสติกใสคลุมแปลงให้มิดชิดป้องกันวัชพืช และควรโรยปูนขาวก่อนเตรียมแปลงเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรค  และที่สำคัญระยะในการลงปลูกควรอยู่ที่ประมาณ 30 X 30 เซนติเมตร ปลูก 1 หัวต่อ 1 หลุม ส่วนกรณีปลูกลงในถุงหรือในกระถาง วัสดุที่ใช้ปลูกควรมีส่วนผสมของทราย ขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 2:1:2  การปลูกที่จะทำให้เกิดการแตกกอดีที่สุด คือการวางหัวพันธุ์ในแนวนอน เพื่อให้ตาข้างบนเหง้ามีโอกาสเจริญเติบโตเป็นหน่อได้ และให้น้ำหลังปลูกทันที หลังจากปลูกให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น  และในเดือนที่ 3-5 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้นเช่นกัน

สำหรับการรดน้ำควรรดน้ำวันละครั้งในช่วงเช้า ยกเว้นวันที่ฝนตก และการรดน้ำแต่ละครั้งต้องให้เพียงพอที่จะทําให้ดินชื้นตลอดทั้งวัน

ส่วนการขยายพันธุ์ปทุมมาส่วนมากจะนิยมวิธีการแยกเหง้า เหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดินซึ่งในหนึ่งฤดูปลูกนั้นเหง้า 1 เหง้าจะเกิดเป็นลำต้นเทียม 1-2 ต้น ซึ่งจะแตกออกไประหว่างฤดูปลูกประมาณ 2-20 หน่อ และอีกวิธีหนึ่ง คือ การผ่าเหง้า โดยนำเหง้าที่มีการแยกเหง้าแล้ว มาผ่าตามแนวยาวเป็น 2 ชิ้นเท่าๆ กัน แนวการผ่าจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างตาที่อยู่ทั้งสองข้างของเหง้า ชิ้นที่ได้ควรมีตาข้างที่สมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ตา มีรากสะสมอาหารอย่างน้อย 1 ราก เมื่อผ่าเสร็จควรทาปูนแดงหรือยากันเชื้อโรคตรงแผลที่ผ่าเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้า ชิ้นที่ผ่าควรปลูกโดยเร็วชิ้นที่ปลูกจะงอกช้ากว่าปกติและดอกไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะมีอาหารสะสมน้อยกว่าปกติและปัจจุบันได้นำมาขยายพันธุ์โดยวิธีการการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นในเวลาอันสั้น ชิ้นส่วนที่นิยมใช้ขยายพันธุ์โดยวิธีนี้คือ ช่อดอกอ่อน ระยะที่เหมาะสมควรเป็นช่อดอกที่เพิ่งโผล่ออกจากลำต้นเทียม การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้ระยะเวลา 2 ปี ถึงจะให้ช่อดอกและหัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ เห็นไหมคะว่าการปลูก ดูแลรักษา และขยายพันธุ์ปทุมมานั้นไม่ยากเลย ใครสนใจสามารถทดลองปลูกที่บ้านได้ แต่หากยังมีข้อสงสัยหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โทร 053 114 195

แหล่งอ้างอิง

ปทุมมา วิทยาการปรับปรุงพันธุ์และการประยุกต์ใช้อย่างยั่งยืน. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2555. กรุงเทพฯ. 298 หน้า.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย