"ปทุมมา" กว่าจะสวย

  • 24/07/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,401 คน

ปทุมมา กว่าจะสวย

          เชื่อหรือไม่ว่าปทุมมา เป็นไม้ดอกส่งออกอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากกล้วยไม้ และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการผลิตหัวพันธุ์ และที่ปังเข้าไปอีกก็คือแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ภาคเหนือของเรานี่เอง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และภาคอีสานที่จังหวัดเลย ในประเทศไทยมีความหลากหลายมากถึง 38 ชนิด (พันธุ์แท้) แต่พันธุ์แท้เหล่านี้ด้วยสภาพธรรมชาติแล้ว มักมีดอกขนาดเล็ก หรือบางดอกใหญ่สีสันไม่สวย บางดอกก้านเล็ก และก้านก็อาจจะสั้นเกินไป และมีอายุปักแจกันสั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงมีความพยายามที่จะผสมข้ามชนิดระหว่างปทุมมาและกระเจียวเพื่อให้ได้ลักษณะใหม่ที่หลากหลายของช่อดอก และสีสันของกลีบประดับเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศ จนได้สายพันธุ์การค้าที่นิยม อาทิ เชียงใหม่พิงค์ สไนว์ไวท์ และไข่มุกสยาม  แต่กว่าจะได้ปทุมมาที่สวยๆ และเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจ ตั้งแต่การผสมเกสรไปจนถึงการพัฒนาผลให้ติดเมล็ด การบานของดอกที่ไม่พร้อมกัน เกสรไม่สามารถงอกได้ หรือเกสรสามารถงอกได้แต่ไม่สามารถงอกลงไปถึงไข่ได้ ผสมไม่ติด ผสมติดแต่เอ็มบริโอหยุดการเจริญเติบโตหรือตายก่อนจะสามารถพัฒนาเป็นต้นได้ ซึ่งอาจจะเกิดความอ่อนแอของเอ็มบริโอเองหรืออาจเกิดจากสารยับยั้งที่อยู่ในเอ็นโดสเปิร์ม และต้นลูกที่ได้อาจเกิดจากการพัฒนาของเซลล์ร่างการต้นแม่ ไม่ใช่ลูกผสมที่แท้จริง เป็นต้น และปัญหาอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงพันธุ์ปทุมมานั้นจะต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากเมล็ดของปทุมมามีการพักตัว ทำให้ต้องใช้เวลาตั้งแต่การผสมเกสรจนกระทั่งลูกผสมออกดอก จนคัดเลือกได้ประมาณ 2-3 ปี และลูกผสมที่ได้จากการผสมข้ามชนิดมักเป็นหมัน ไม่สามารถใช้ปรับปรุงพันธุ์ต่อได้  แต่นักปรับปรุงพันธุ์ก็ไม่ได้ย่อท้อเพื่อให้ได้ปทุมมาที่มีลักษณะที่หลากหลาย สวยงาม มีอายุการปักแจกันได้นาน เหมาะสำหรับเป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอก และลักษณะตามที่ท้องตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาและกระเจียวออกมามากมายสำหรับต่อยอดในการผลิตเพื่อส่งออกต่อไป มาเป็นกำลังใจให้นักปรับปรุงพันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ปทุมมาที่เป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมให้เป็นไม้ส่งออกอันดับต้นๆ ของไทยกันค่ะ

สามารถเที่ยวชมดอกปทุมมาและกระเจียว ได้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้จัดแสดงกว่า 30 สายพันธุ์ ตลอดเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม

ที่มา:

ธราธร ทีรฆฐิติ และคณะ, 2558. คู่มือส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ดอกไม้ประดับ พิมพ์ครั้งที่ 2. ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). 56 หน้า

เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี, 2549. การปรับปรุงพันธุ์พืชขั้นสูง 2. เอกสารประกอบการสอนวิชา พส 522. คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. เชียงใหม่. 133 หน้า

โสระยา ร่วมรังษี, 2558. สรีรวิทยา ไม้ดอกประเภทหัว. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่. 276 หน้า

http://www.agriman.doae.go.th/home/news/2562/81-82.pdf

https://www.prachachat.net/spinoff/news-15117

https://kehakaset.com/newsactivities_details.php?view_item=203

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย