ปทุมมา…สู่ตลาดโลก

  • 03/08/2020
  • จำนวนผู้ชม 2,463 คน

ปทุมมา…สู่ตลาดโลก

          เวลาพูดถึงไม้ดอกที่ส่งออกของไทย คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกล้วยไม้ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าปทุมมา ก็มีบทบาทไม่น้อยหน้า มิหนำซ้ำยังมีความต้องการจากต่างชาติมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันจัดว่าเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่น่าจับตา เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และตั้งชื่อให้ว่า สยามทิวลิป ซึ่งภายหลังดอกปทุมมาได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความสวยงามและโดดเด่นยิ่งขึ้น จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งไม้ตัดดอก หัวพันธุ์ และไม้กระถาง โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้จากการจําหน่ายไม้ตัดดอกมากที่สุดในโลก นั่นก็คือประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เป็น ตลาดการค้าและประมูลดอกไม้ ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก

       ประเทศไทยจึงส่งออกปทุมมาในรูปของหัวพันธุ์ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีความต้องการสูงถึงปีละกว่า 3 ล้านหัว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นเงินถึง 16-29 ล้านบาท ผู้นําเข้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่มักจะนําหัวพันธุ์ดอกปทุมมาไปผลิตเป็น ไม้ตัดดอกและไม้กระถาง จึงจําเป็นต้องซื้อหาหัวพันธุ์ดอกปทุมมาใหม่เพื่อใช้ปลูกทุกปี แต่การส่งออกในรูปของดอกสดยังมีน้อยมากเนื่องจากยังขาดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่จะทําให้ดอกสดอยู่คงนาน รวมทั้งรูปแบบการบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม (ลำพู, 2551) ในแต่ละปีการส่งออกปทุมมา จึงเป็นไม้เศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีตลาดส่งออก คือ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และนิวคาลิโดเนีย และมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากการส่งออกกล้วยไม้ (ดวงเดือน, 2556) การผลิตและส่งออกหัวพันธุ์ปทุมมาเพื่อนำไปผลิตเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถางเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ เนื่องจากช่อดอกสวยงาม กลีบประดับมีสีสดใส และความคงทนของดอกตลอดจนความหลากหลายของสายพันธุ์ เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งไม้เมืองร้อนและไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ ปทุมมา เบญจมาศกุหลาบ คาร์เนชั่น ในแต่ละปี มีผลผลิตในปริมาณที่ค่อนข้างมากและมีเกือบตลอดทั้งปี

          ปัจจุบันมีปทุมมาเพียงพันธุ์เดียวคือ พันธุ์เชียงใหม่พิงค์ เป็นพันธุ์ที่ต้องการมากที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีผลผลิตอยู่ในรูปหัวพันธุ์ดอกปทุมมาประมาณ 40,000 กิโลกรัมต่อฤดูกาลผลิต และมีผลผลิตอยู่ในรูปไม้ตัดดอกปทุมมา ประมาณ 2,800,000 ดอกต่อฤดูกาล ที่เหมาะสําหรับทําการผลิตไม้ตัดดอกเชิงอุตสาหกรรม

ส่วนพันธุ์อื่นยังไม่มีคุณสมบัติที่จะนํามาทําไม้ตัดดอกได้ ดังนั้นปทุมมาพันธุ์อื่นจึงอยู่ในรูปไม้กระถาง (ลำพู, 2551) สำหรับประเทศไทยที่พบว่าเป็นแหล่งผลิตปทุมมาที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่อำเภอสันทราย และแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นอย่างนี้แล้วใครที่อยากจะเริ่มปลูกปทุมมาเพื่อส่งขายไม่ว่าจะตลาดในประเทศหรือตลาดต่างประเทศก็ถือว่ามีอนาคตที่สดใส ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 053 114 195

 

 

แหล่งข้อมูล

          ลำพู เมฆคะนอง (2551).v การศึกษาช่องทางการส่งออกไม้ตัดดอกปทุมมาไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ของกลุ่มผู้ปลูกดอกปทุมมา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

          ดวงเดือน กุสาวดี (2556). การจัดการส่งออกปทุมมาตัดดอกในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังตลาดญี่ปุ่น. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย