เรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี ผ่านเมนู “กิมจิ”

  • 06/08/2020
  • จำนวนผู้ชม 3,517 คน

เรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี ผ่านเมนู “กิมจิ”

 

          ในช่วงของสถานการณ์ COVID-19 ทำให้หลายๆ ท่าน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านไปยังสถานที่ชุมชนต่างๆ และปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถือเป็นการได้อยู่ทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย หนึ่งในกิจกรรมที่หลายๆ ครอบครัวทำร่วมกันอาจมีการนั่งดูซีรีย์เกาหลีร่วมกันรวมอยู่ด้วย "Itaewon Class" เป็นซีรีย์ดังอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมากในโลกโซเชียล ทำให้บางท่านอยากสวมบทบาทเป็นเถ้าแก่ “พัคแซรอย” แห่งร้านทันบัมเพื่อรังสรรค์เมนูเด็ดอย่าง “ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน” หรือที่ภาษาเกาหลีเรียกว่า “ซุนดูบูจีเก” โดยส่วนผสมที่สำคัญของเมนูนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือ “กิมจิ” นั่นเอง

          กิมจิ ถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวเกาหลี เชื่อกันว่ามีการเริ่มทำกิมจิกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เนื่องด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีหิมะปกคลุมในช่วงหน้าหนาวของประเทศเกาหลีจึงไม่สามารถทำการเพราะปลูกได้ เมื่อถึงช่วงเวลาทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ผักกาดขาว หัวผักกาดมาแล้ว จึงได้ทำการคิดค้นกรรมวิธีในการถนอมอาหารเพื่อให้มีผักรับประทานในช่วงหน้าหนาว จึงได้มีการหมักดองกิมจิเกิดขึ้น การทำกิมจินั้นยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนและคนในครอบครัว ตั้งแต่การช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิต การเตรียมส่วนผสม จนกระทั่งนำไปหมักในไหกิมจิ ซึ่งกิมจิฤดูหนาวจะเริ่มหมักในช่วงเดือนตุลาคมและทำการหมักโดยใช้ระยะเวลาสองเดือนโดยประมาณจึงนำมารับประทานได้ สามารถนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านหรือส่งไปให้ลูกหลานที่อาศัยอยู่ต่างเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความรักความห่วงใยจากครอบครัว เพราะนอกจากความอร่อยแล้วกิมจิยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เนื่องจากในกระบวนการหมักจะทำให้มีโปรไบโอติกส์และแลคโตแบซิลลัสคล้ายกับในโยเกิรต์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ถึงแม้จะมีประโยชน์แต่ก็ควรจะรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะพอดี เพราะในการหมักกิมจิใช้เกลือเป็นส่วนผสมจึงอาจทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมที่มากจนเกินไป ปัจจุบันกิมจิมีกว่า 300 ชนิดและได้รับการพัฒนารสชาติให้เหมาะสมตามแต่ความชอบ จึงถือเป็นเครื่องเคียงที่มักจะพบบนโต๊ะอาหารของชาวเกาหลีในทุกมื้ออาหาร

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่คิดถึงบรรยากาศของประเทศเกาหลี แต่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่หมดไป ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ ก็สามารถมาเยี่ยมชมและถ่ายภาพที่ระลึกกับไหหมักกิมจิได้ ภายในสวนนาชาติประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้แนวคิด “สวนแห่งกำแพงและความปรารถนา” ได้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวัน

 

 

ข้อมูลและรูปภาพอ้างอิง

http://www3.ru.ac.th/korea/article1/article6.pdf      

https://www.creatrip.com/th/blog/5076/

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย