ปทุมมา เลือกให้เป็น เห็นความงาม (ยิ่งขึ้น)

  • 10/08/2020
  • จำนวนผู้ชม 2,044 คน

ปทุมมา เลือกให้เป็น เห็นความงาม (ยิ่งขึ้น)

เชื่อหรือไม่ว่า ปทุมมาสามารถนำมาทำเป็นไม้ตัดดอก ก็สามารถปักแจกันได้ยาวนาน มาปลูกเป็นไม้กระถางก็ให้ทรงพุ่มแตกดอกที่สวยงาม หรือจะปลูกเป็นไม้ดอกประดับแปลงก็บานสะพรั่งชูช่อดอกตลอดฤดูฝน เนื่องจากปทุมมามีหลากหลายสายพันธุ์ หากเราจะเลือกให้ตรงกับความต้องการแล้ว ก็ไม่ยาก เราไปดูเทคนิคกันเลยค่ะ หากอยากได้ ปทุมมาเพื่อเป็นไม้ตัดดอก จะต้องเลือกที่มีสีของใบประดับส่วนบนที่สดใส สีบนใบประดับนั้นควรมีสีเดียว ก้านช่อดอกต้องแข็งแรงและมีความยาวมากกว่า 50 เซนติเมตร สำหรับไม้ตัดดอกเพื่อใช้จัดตกแต่งสถานที่ หรือใช้ในการปักแจกันนั้น ก่อนทำการตัดดอกควรให้น้ำปทุมมาอย่างเต็มที่ เนื่องจากหลังจากตัดดอกออกจากต้นแล้วดอกจะดูดน้ำน้อยมาก และควรเลือกตัดดอกที่มีดอกจริงบานแล้วประมาณ 3-5 ดอก เวลาตัดดอกที่ดีที่สุดคือในตอนเช้า แล้วแช่ในน้ำสะอาดทันที โดยช่อดอกปทุมมาที่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องมีอายุการปักแจกันมากถึง 15 วัน และเมื่อนำปทุมมาตัดดอกมาใช้ในการประดับตกแต่งเป็นปฏิมากรรมดอกไม้ ก็จะมีอายุการปักประมาณ 7-10 วันโดยประมาณ เช่น พันธุ์เชียงใหม่พิงค์ สโนว์ไวท์ ทรอปิคอลสโนว์ เป็นต้น หากต้องการปลูกปทุมมา เป็นไม้กระถาง ต้องเลือกสายพันธุ์ที่มีการแตกกอ ออกดอกคราวละหลายๆ ช่อ ก้านช่อดอกไม่ยาวจนเกินไป ใบประดับส่วนบนมีสีสดใสสะดุดตา เหง้ามีขนาดเล็ก และสามารถเก็บรักษาได้นานที่อุณหภูมิห้อง เช่น พันธุ์ไข่มุกสยาม พลอยชมพู ทับทิมสยาม เป็นต้น และหากต้อง การปลูกปทุมมาประดับแปลง จะต้องคำนึกถึงความสูงที่พอเหมาะ ทนต่อสภาพแสงมาก ควรมีพุ่มช่อโผล่พ้นทรงพุ่ม ง่ายต่อการบังคับให้ออกดอกพร้อมกันทั้งแปลงคราวละมากๆ และควรมีสีของใบประดับที่หลากหลาย สีสดใสสะดุดตา และต้องมีอายุการบานของช่อดอกที่ยาวนาน และในเรื่องของสีสันที่สดใส สะดุดตานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 เฉดสีด้วยกัน ตั้งแต่ สีขาว เช่น มอญบลัง ยูคิ สโนว์ไวท์ สีชมพู เช่น เชียงใหม่พิงค์ ทับทิมสยาม ซากุระ สีแดง เช่น เชียงใหม่เรด แดงดอยตุง บิ๊กเรด และ สีเขียว เช่น มรกต ช็อคโกแลต ด้วยความสวยงามและความบานทน ปทุมมาจึงเป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง

 เอกสารคำแนะนำ กรมส่งเสริมการเกษตร “ไม้ตัดดอกเขตร้อน การปลูกปทุมมาและกระเจียว”

          http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2556/agbus40256dk_ch2.pdf

 สุรวิช วรรณไกรโรจน์. 2539. ปทุมมาและกระเจียว. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บ้านและสวน.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย