พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๔

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 6,880 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๔

         

           ธ ทรงเป็น “เจ้าหญิงในดวงใจไทยทั่วหล้า” เนื่องในวโรกาสเดือนแห่งวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรงกับวันเสาร์ ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม สัปตศก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

          และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ และพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้ง เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

          พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ในตอนที่ 4 นี้ขอนำเสนอพรรณไม้พระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๓ ชนิด ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ถูกสำรวจ และเป็นพืชถิ่นเดียวที่พบในประเทศไทย และเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้ตั้งชื่อพรรณไม้ทั้ง 3 ชนิดอันได้แก่ สิรินธรวัลลี เครือเทพรัตน์ และเทียนสิรินธร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

                                        “นามพรรณไม้ราชสกุลมหิดล                นามมงคลเจ้าฟ้ามหาจักรี

                              พรรณไม้งามนาม สิรินธรวัลลี                         สง่าศรีราชกุมารีถิ่นแดนไทย

                              เครือเทพรัตน์ งดงามแห่งสยาม                      มงคลนามวัลยชาติพันธุ์พฤกษ์ไพร

                              งาม เทียนสิรินธร งดงามไซร้                         ถวายพระพรชัยทรงพระเจริญ”

 

 

สิรินธรวัลลี

Bauhinia sirindhorniae K.Larsen & S.S.Larsen

วงศ์ CAESALPINIACEAE

          ศาสตราจารย์ Kai Larsen และนางสุภีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เสน นักพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ได้เก็บตัวอย่างพรรณไม้จากภูทอกน้อย อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย ที่ระดับความสูง 150-200 เมตร และได้ตั้งชื่อระบุชนิด “sirindhorniae” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 17 หน้า 113-118 ค.ศ. 1997 ตัวอย่างต้นแบบหมายเลข Niyomdham 4471

          สิรินธรวัลลีเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นไม้เถายาว 10-20 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดียวเรียงเวียน รูปไข่ ปลายใบมีหลายแบบ มีตั้งแต่ปลายไม่เว้าจนกระทั่งเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ ทำให้เห็นเป็น 2 แฉก ปลายแฉกแหลมถึงเรียวแหลมหรือรูปเคียว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายหนัง ผิวใบเกลี้ยง ด้านล่างเมื่ออ่อนมีขนสีแดง เมื่อแก่เกลี้ยง เส้นใบมีข้างละ 9-11 เส้น ออกจากโคนใบ โค้งตามขอบใบไปยังปลายใบ เมื่ออ่อนมีขนสีแดง เมื่อแก่เกลี้ยง ช่อดอกเป็นช่อกระจุกซ้อน แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก มีขนสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง มีขนสั้นนุ่ม ฐานดอกรูปหลอดถึงรูปกรวยแคบ มีขน กลีบเลี้ยงตั้งตรงคล้ายกาบ ด้านหนึ่งแยกจากปลายถึงโคน ด้านตรงข้ามแยกเฉพาะที่ปลายเล็กน้อยมีลายตามยาว กลีบดอกสีเหลืองถึงสีแดงอมส้ม รูปใบหอกแคบ ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี 3 อัน อับเรณูรูปขอบขนาน เมื่อแก่แตกตามยาว เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 2 อัน รูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก รังไข่เหนือวงกลีบ มีขนสีน้ำตาลอมแดง มีก้านสั้น และมีขน เกสรเพศเมีย มีขน ผลเป็นฝักแบน มีขนสีน้ำตาลอมแดง กลีบเลี้ยงติดแน่นอยู่ที่โคนฝัก เมล็ดมี 5-7 เมล็ด รูปกลมแบน สีน้ำตาลเข้ม

หมายเหตุ ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพราะมีใบ ดอกที่สวยงาม และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬ

 

                                                                “งามพรรณสง่าไม้          จักรี

                                                           สิรินธรวัลลี                       เทิดไท้

                                                           วัลยชาตินี้                         งามยิ่ง

                                                           พืชถิ่นเดียวงามไซร้            พฤกษ์ไม้งามพันธุ์”

 

 

เครือเทพรัตน์

Thepparatia thailandica Phuph.

วงศ์ MALVACEAE

          เครือเทพรัตน์เป็นพืชสกุลใหม่ของโลกอยู่ในวงศ์ชบา โดยชื่อสกุล “Thepparatia” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนคำระบุชนิด “thailandica” นั้นตั้งตามชื่อประเทศไทย พันธุ์ไม้ชนิดนี้สำรวจพบครั้งแรกโดย ดร.ราชันย์ ภู่มา นักพฤกษศาสตร์ประจำหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 และนางลีนา ผู้พัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชบาประจำหอพรรณไม้ ได้ศึกษาตัวอย่างพันธุ์ไม้ต้นแบบหมายเลข Pooma et al. 4981 เก็บที่จังหวัดตาก และตั้งชื่อตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 34 หน้า 195-200 ค.ศ. 2006

          เครือเทพรัตน์พบเฉพาะทางภาคเหนือของไทยที่จังหวัดตาก ใกล้ชายแดนพม่า ขึ้นตามหุบเขาที่ลาดชันใกล้ลำธารในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงประมาณ 700 เมตร เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 10-15 เซนติเมตร มีขนรูปดาวตามด้านบนของแผ่นใบ ก้านใบ ช่อดอก ริ้วประดับ และกลีบเลี้ยง ใบเรียงเวียน ใบรูปฝ่ามือ มี 3-5 แฉกตื้นๆ ขอบใบหยักฟันเลื่อยห่าง ด้านบนของแผ่นใบมีต่อมทั่วไป ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกจำนวนมาก ริ้วประดับติดทนมี 5-7 กลีบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีครีมมีแถบสีแดง รูปไข่กลับ ปลายกลีบม้วนออก อับเรณูรูปเกือกม้า ผลยังไม่พบ

 

                                                                 “เครือเทพรัตน์ นี้       เถาไม้

                                                         งามยิ่งถิ่นแดนไทย             แหล่งหล้า

                                                         ถวายพระเกียรติชัย             มังคละนา

                                                         สดุดีเจ้าฟ้า                       เหล่าข้าปวงไท”

 

 

เทียนสิรินธรหรือชมพูสิริน

Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan

วงศ์ BALSAMINACEAE

          เทียนสิรินธรเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาที่เป็นหินปูน ระดับความสูง 20-150 เมตร และได้ขอพระราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาต พร้อมพระราชทานชื่อทั่วไปว่า “ชมพูสิริน” เป็นพืชล้มลุก สูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกอ ลำต้นมักห้อยลง อวบน้ำ เกลี้ยง มีนวล ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ออกหนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้าง กลมหรือคล้ายรูปหัวใจตื้นๆ ขอบใบจักห่างๆ ปลายจักเป็นติ่ง มีต่อมใกล้โคนเหนือก้านใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบมี 3-6 เส้นใบแต่ละข้าง เส้นแขนงใบย่อยไม่ชัดเจน ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 2 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกเกลี้ยง ใบประดับขนาดเล็กติดใกล้โคนก้านดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน กลีบข้าง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ คู่ในขนาดเล็ก กลม กลีบปากเป็นถุงลึก โค้งเรียวยาว เว้าเป็นเดือย กลีบดอกสีชมพูอมม่วงอ่อนๆ แผ่บานออก กลีบปากรูปไข่กลับ โคนมีเขาขนาดเล็ก 1 คู่ กลีบข้าง กลีบคู่นอกติดกัน แฉกลึกประมาณสองในสามส่วน คล้ายรูปหัวใจ กลีบคู่ในรูปไข่กลับ ยาวเท่าๆ กลีบคู่นอก แคปซูลเต่งตรงกลาง รูปขอบขนาน เกลี้ยง

     

                                                               “ชมพูสิริน ดอกนี้         อรชร

                                                          งามกลีบบางอ่อนอ้อน         ใหม่ไม้

                                                          นาม เทียนสิรินธร             พระราชทาน

                                                          ไว้คู่เคียงฟ้าให้                  ข้าฯ ภักดิ์สดุดี” 

 

          ปัจจุบันอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้ปลูกต้นสิรินธรวัลลี ณ สวนไม้ประจำจังหวัด ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ต้นพันธุ์สิรินธรวัลลีจากทางจังหวัดบึงกาฬ ส่วนเทียนสิรินธร และเครือเทพรัตน์นั้นไม่ได้นำมาปลูกจัดแสดง เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมเฉพาะที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพรรณไม้แต่ละชนิด หากมองถึงการอนุรักษ์แล้ว การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในถิ่นที่อยู่ (In situ conservation) น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับพืชถิ่นเดียวมากที่สุด เพราะเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ และการบำรุงรักษาและการนำกลับคืนมาซึ่งประชากรซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้ของชนิดพันธุ์ (species) ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และในกรณีของชนิดพันธุ์พืชที่นำมาปลูกเลี้ยงหรือเพาะปลูก (domesticated or cultivated) ในสภาพแวดล้อมซึ่งชนิดพันธุ์เหล่านั้นได้พัฒนาคุณสมบัติพิเศษขึ้นมา

                  

กวีศิลป์ คำวงค์

 

อ้างอิงข้อมูล

 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สำนักงานหอพรรณไม้. พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย.บริษัท ประชาชน จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 2550.

http://web3.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B7%D5%C2%B9&typeword=group

http://th.wikipedia.org/wiki/

http://www.qsbg.org/database/webnews/NewsDetail.asp?News_ID=676

http://www.rspg.org/itpgr-3.htm

 

อ้างอิงรูป

 

http://mblog.manager.co.th/athenaz/th-118833/

http://novataxa.blogspot.com/2011/11/2006-thepparatia-thailandica.html

http://novataxa.blogspot.com/2011/08/2009-thai-impatiens-sirindhorniae.html

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย