ปทุมมาสายพันธุ์เด่น "โทนสีขาว"

  • 14/08/2020
  • จำนวนผู้ชม 2,451 คน

ปทุมมาสายพันธุ์เด่น "โทนสีขาว"

     จากเรื่องราวของปทุมมาที่ได้เล่าไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องความเป็นมาของปทุมมา ความผูกพันของพืชกลุ่มปทุมมากับวิถีชาวบ้าน ความแตกต่างที่ทำให้เราสับสนระหว่างสองตัวละครหลักคือปทุมมาและกระเจียว ตลอดจนการดึงเอาจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้วงการปทุมมาเพื่อการค้า การส่งออก และการจัดสวนภูมิทัศน์ ทั้งแบบหัวพันธุ์ ไม้ตัดดอก และไม้กระถาง ซึ่งทำให้การผลิต การค้าปทุมมาตรงตามความต้องการของลูกค้าได้ดี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอาชีพ กระจายรายได้ให้เกษตรกรไปในคราวเดียวกันอีกด้วย

     ในตอนนี้เราจะมานำเสนอสายพันธุ์เด่นของปทุมมา ตัวแทนจากปทุมมาหลากหลายสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่น ซึ่งปทุมมาสายพันธุ์เด่นที่เราจะกล่าวถึงในตอนนี้ เป็นกลุ่มปทุมมาโทนสีขาว ที่ให้ความรู้สึกสงบ สดชื่น ตัวอย่างเช่น

     พันธุ์แรก ปทุมมาพันธุ์สโนว์ไวท์ พันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาโดยคุณอุดร คำหอมหวาน คุณประวิทย์ นิพนุติยันต์ เป็นปทุมมาที่มีกลีบประดับส่วนบนสีขาวนวล ปลายกลีบแต้มสีแดงเข้มเล็กน้อย มีอายุการปักแจกันถึง 10-15 วัน เป็นพันธุ์ที่นิยมใช้เป็นไม้ตัดดอก ปลูกในกระถางหรือประดับแปลง

     “ปทุมมาพันธุ์ยูคิ ปทุมมาที่กลีบประดับส่วนบนสีขาวอมชมพู ตัดกับดอกจริงที่สีม่วงเข้ม เป็นปทุมมาที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างต้นแม่พันธุ์ ปทุมมาลูกผสมพันธุ์บ้านไร่สวีท กับพันธุ์บัวสีขาวที่เป็นพ่อพันธุ์ พันธุ์นี้ปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     “ปทุมมาพันธุ์มอญบลัง เป็นปทุมมาที่ก้านช่อดอกไม่ยาวมากเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ แต่ด้วยกลีบประดับสีขาวกว้าง ช่อตั้ง การแตกกอดี โดยเฉพาะการออกดอกที่เร็วทันใจผู้ปลูก อีกทั้งยังมีอายุการปักแจกันนาน 10-15 วัน จึงทำให้ปทุมมาพันธุ์มอญบลังเป็นที่นิยมสำหรับเป็นไม้กระถางและปลูกประดับแปลง

     นอกจากพันธุ์เด่นๆ ที่นำเสนอไป ยังมีปทุมมาสีขาวอีกหลายพันธุ์ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รวบรวมและจัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เที่ยวชม เช่น ปทุมมาพันธุ์ลานนาสโนว์ พันธุ์ขาวปลายแดง พันธุ์เชียงรายสโนว์ และพันธุ์พรพิศิษฐ์ เป็นต้น ในปทุมมาสายพันธุ์เด่นตอนต่อไป เราจะเปลี่ยนมาแนะนำปทุมมาโทนสีชมพูบ้าง ว่ามีพันธุ์ไหนที่น่าสนใจ และมีเสน่ห์เฉพาะพันธุ์อย่างไร ติดตามกันนะคะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

อุทยานหลวงราชพฤกษ์. ข้อมูลพรรณไม้. [ระบบออนไลน์]. http://www.royalparkrajapruek.org/Plants

Jenny Hendy. 2009. Creating a garden of the senses. Aquamarine: London.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย