ความลับ...ใยแมงมุม

  • 20/08/2020
  • จำนวนผู้ชม 15,320 คน

ความลับ ใยแมงมุม

       รู้หรือไม่ ?...เจ้าสิ่งมีชีวิต 8 ขา อย่างแมงมุม มีความลับซ่อนอยู่มากมาย พวกมันมีมากถึง 40,000 ชนิดหรืออาจมากกว่ากว่านี้ อาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ต้นไม้ บนดิน และในดิน และใยของมัน ที่อยู่ตามบ้านเรือนก็สร้างความรำคาญให้กับมนุษย์เราไม่น้อย แต่ใยแมงมุมมีประโยชน์กับพวกมันอย่างไร? เรามาดูกันค่ะ

       แมงมุมผลิตใยจากอวัยวะหนึ่งของแมงมุมที่ชื่อว่า “ต่อมผลิตเส้นใย” ที่อยู่บริเวณส่วนท้องและปล่อยเส้นใยออกมาทางตูดนั่นเอง และมีการถักเรียงเส้นใยในแบบที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นทำได้ และมีความแข็งแรงมากกว่าเส้นใยไนลอนที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ และหากเปรียบเทียบในเรื่องของร้อยละความยืดหยุ่นเส้นใยแมงมุมนั้นจะมีร้อยละความยืดหยุ่นมากกว่าทั้ง เส้นใยไหม เส้นใยไนลอน เส้นใยคาร์บอน และเส้นใยเหล็ก (เปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากัน) น่าทึ่งใช่ไหมล่ะ และเส้นใยเหล่านี้สร้างไว้เพื่อเป็นกับดักจับแมลงหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ กินเป็นอาหาร สำหรับบางชนิดมีการถักใยห่อหุ้มไข่ไว้ด้วย

แต่สงสัยไหมว่าใยแมงมุมที่มีความเหนียวและยืนหยุ่นมากขนาดนี้ กลับไม่เป็นทำให้แมงมุมยุ่งเหยิงเลย นั่นก็เพราะว่า พวกมันเป็นผู้สร้างย่อมจะรู้จักโครงสร้างของเส้นใยเป็นอย่างดี ว่าควรจะเดินไปบนเส้นใยเส้นไหน เนื่องจากสร้างเส้นใยออกมา 2 ชนิด คือเส้นใยที่มีความเหนียว ไว้สำหรับจับเหยื่อ และเส้นใยที่เป็นเส้นโครงสร้าง เอาไว้สำหรับเดินไปมา ประกอบกับลำตัวที่ยกขึ้นสูงกว่าเท้าทั้ง 8 ข้าง และปลายเท้าที่ใช้เดินมีน้ำมันหรือสารหล่อลื่น เราจึงไม่มีทางเห็นแมงมุมติดกับดักของตัวเอง และคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่นก่อให้เกิดแรงบันดาลในการสร้างนวัตกรรมมากมายของนักประดิษฐ์ เช่น การนำไปใช้ในการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน การผลิตเข็มขัดนิรภัย ไหมเย็บแผล และเส้นเอ็นเทียม และเมื่อไม่นานมานี้สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้ค้นพบคุณสมบัติใหม่ของใยแมงมุมที่อาจถูกนำไปสร้างเป็นกล้ามเนื้อของหุ่นยนต์ได้ คุณสมบัติดังกล่าวคือการยืดหดได้ของเส้นใยตามการเปลี่ยนแปลงของความชื้น นักวิจัยเรียกการควบคุมนี้ว่า “Supercontraction” และยังไม่มีการค้นพบคุณสมบัตินี้กับเส้นใยอื่น ๆ อีกด้วย โดยนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นว่า คุณสมบัตินี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์หรืออุปกรณ์ควบคุมบางชนิดได้ ถ้าหากสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางความชื้น

        เห็นไหมล่ะคะว่า....แมงมุมที่สร้างใยให้ความรำคาญกับเรา ก็มีเรื่องราวน่าทึ่งและเป็นแรงบันดาลใจจากคุณสมบัติพิเศษของมันให้มนุษย์เราสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมากได้ร่วมค้นหาและสำรวจพฤติกรรมแปลกๆ น่าสนใจของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ได้ที่อาคารโลกแมลง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

อ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2562) ความลับของใยแมงมุม(ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.scimath.org/ [เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563]

Workpoint today (2561) 19 เรื่องน่าสนของแมงมุม ในมุมที่คุณอาจยังไม่รู้ (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://workpointtoday.com/ [เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563]

Mahidol kids (2018) ไขความลับของใยแมงมุม (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.youtube.com/ [เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563]

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย