ทำไมต้องแกล้งดิน !!!

  • 02/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 19,480 คน

ทำไมต้องแกล้งดิน!!!

“แกล้งดิน” คืออะไร ??? แกล้งยังไง ??? แกล้งเพื่ออะไร ???

  เมื่อครั้งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีของพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดต่างๆ และจากการที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ ทำให้ทรงทราบว่าราษฎรมีความเดือดร้อน ขาดแคลนที่ทำกิน หรือปัญหาในพื้นที่ป่าพรุที่มีน้ำขังตลอดปี พระองค์จึงมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้พื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำเกษตรให้ได้มากขึ้น จึงทำให้กำเนิด “โครงการแกล้งดิน” ขึ้นมา

    โครงการแกล้งดิน อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ป่าพรุ ภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่สามารถนำมาเพาะปลูกได้

         แล้วทำไมดินป่าพรุถึงได้เปรี้ยวล่ะ??? ดินมีรสชาติเปรี้ยวหรอ? พื้นที่ป่าพรุเป็นพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี เมื่อระบายน้ำออกแล้วพื้นดินมีสารประกอบไพไรท์ เมื่อดินแห้งจึงทำให้เกิดกำมะถันซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเปรี้ยว “ดินเปรี้ยว” คือดินที่เกิดจากการทับถมของอินทรียวัตถุซากพืชรากพืชเน่าเปื่อย จึงทำให้ดินเป็นกรด หรือดินเปรี้ยวนั้นเอง (pH ต่ำกว่า 7)

         การแกล้งดิน คือ กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเคมีในดินซึ่งมีศักย์หรือความพร้อมจะเป็นดินเปรี้ยว ให้เปรี้ยวรุนแรงมีกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงโดยการเติมปูนขาวหรือเติมด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานน้ำมาเจือจางดินเปี้ยวจนสามารถเพราะปลูกได้ จึงนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยว เช่น พื้นที่ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก เป็นต้น โดยการเร่งปฏิกิริยาเคมีของดินที่มีแร่กำมะถัน หรือสารประกอบไพไรต์ (Pyrite) โดยทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งสัมผัสกับอากาศ ทำให้แร่กำมะถันกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กและซัลเฟต เมื่อทำให้ดินเปียกซัลเฟตผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปมาจนกลายเป็นดินที่เปรี้ยวรุนแรงหรือเป็นกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงดินโดยเติมฝุ่นปูนซึ่งเป็นด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานควบคุมระดับน้ำใต้ดินและนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกได้อีกครั้ง

      น่าอัศจรรย์ใช่ไหมละคะ นอกจากโครงการแกล้งดินแล้วยังมีโครงการที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ดำริไว้ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงวางรากฐานไว้ให้สัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์ ทั้งด้านการเกษตร ป่าไม้ และการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ 

     นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาได้ที่ สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ สวนป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง อาคารปฏิบัติการดินและปุ๋ย และนิทรรศการต่างๆ ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 

แหล่งอ้างอิง

(ม.ป.ป.).  โครงการพระราชดำริ ร.9.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://sites.google.com/site
/10khorngkarphrarachdaari/10-khorngkar-thi-dod-den/10
. [เมื่อวันที่ 10/8/2563]

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมลออ.  (ม.ป.ป.).  โครงการแกล้งดิน.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://sites.google.com/site/royalinitiativeproject/project-soil/khorngkar-kaelng-din. [เมื่อวันที่ 10/8/2563]

เรารักพระเจ้าอยู่หัว.  (.ม.ป.ป).  โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส(ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/th/blog/page/19/โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง%20จ.นราธิวาส. [เมื่อวันที่ 10/8/2563]

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย