เมี่ยง (หนึ่ง) คำ "กำลังดี"

  • 03/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 979 คน

เมี่ยง (หนึ่ง) คำ "กำลังดี"

          เมี่ยงคำถือเป็นเมนูอาหารว่างสุดคลาสสิคของไทย รสชาติหนึ่งคำมีทั้งรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ที่รับประทานได้ทุกภาค ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลยก็ว่าได้ จัดว่าเป็นอาหารบำรุงธาตุอีกด้วย ในเครื่องเมี่ยงคำที่ประกอบไปด้วย ใบชะพลู มะนาว บำรุงธาตุน้ำ พริก หอม บำรุงธาตุลม ขิง เปลือกมะนาว บำรุงธาตุไฟ และ มะพร้าว ถั่วลิสง น้ำตาล กุ้งแห้ง บำรุงธาตุดิน หรือช่วยบรรเทาอาการที่ไม่สบายได้ เช่น ถ้าเป็นหวัดคัดจมูก ภูมิแพ้ เพิ่มมะนาว หัวหอมแดง ขิง หากเป็นกรดไหลย้อน เพิ่มสัดส่วนของใบชะพลู ขิง หัวหอมแดง และหากมีอาการห้องอืด ท้องเฟ้อ เพิ่มสัดส่วนพริก มะนาว ขิง “เมี่ยงคำ” ต้อง “หนึ่งคำ” กำลังดีนั้น จะใช้ใบชะพลูเป็นวัตถุดิบในการห่อเมี่ยง ส่วนประกอบของเมี่ยงคำ มีทั้ง ขิง หัวหอมแดง มะนาวหั่นทั้งเปลือก ต้องหั่นให้เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า พริกขี้หนูสดซอย ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้งล้างเค็มออก และมะพร้าวซอยคั่ว ราดด้วยน้ำเมี่ยงคำหวานๆ ข้นเหนียวหนืด (Tip: เรามาดูวิธีการทำน้ำเมี่ยงคำกันนะคะ เริ่มจากคั่วเครื่องน้ำเมี่ยง ได้แก่ มะพร้าว ข่า ตะไคร้ หัวหอม ถั่วลิสง โดยคั่วให้แต่ละส่วนผสมให้เหลือง แล้วพักไว้ก่อน จากนั้นนำข่า ตะไคร้ หอมแดง โขลกให้เข้ากันให้ละเอียด พักไว้ ต่อมาเคี่ยวน้ำตาล น้ำปลา ใส่น้ำสะอาดในหม้อ ตั้งไฟกลางๆ ใส่เครื่องที่โขลกไว้คนให้เข้ากันเคี่ยวไปสักพัก ใส่กะปิ เคี่ยวต่อพอเหนียว ยกลงใส่กุ้งแห้ง มะพร้าวคั่ว ยกขึ้นตั้งไฟอีกครั้งให้เหนียว ยกหม้อลงพักให้เย็น) เสร็จกระบวนการเตรียมเครื่องเคียง เรามารับประทานกันเลยดีกว่า!!!  จัดใบชะพลู วางเครื่องปรุงอย่างละน้อยลงบนใบชะพลู (เลือกสัดส่วนที่สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือนที่กล่าวมาข้างบน หรืออาการที่ไม่สบายได้) แล้วตักน้ำเมี่ยงหยอดห่อเป็นคำๆ รับประทาน เมื่อได้รสชาติของส่วนผสมทั้งหมดกลมกลืนในคำเดียว ถือว่าเป็นช่วงเวลาเคี้ยวที่ดีที่สุด หากเด็กรับประทานไม่ต้องใส่พริกขี้หนู และขิง เพราะจะเผ็ดร้อน  

 

เอกสารอ้างอิง

          พิชญาดา เจริญจิต (2562). หัวข้อ เมี่ยงคำ อาหารว่างในบทพระราชนิพนธ์. จากเวปไซต์ www.Technologychaoban.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563.

          นิตยสารชีวจิต (2562). หัวข้อ เมี่ยงคำ เมนูอาหารปรับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ช่วยอายุยืน.วันที่ 8 เมษายน 2562.

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2556). คู่มือ หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.บ้านบง สมุนไพร สร้างเสริมสุขภาพ.

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย