นิทรรศการ 236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์

  • 09/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,691 คน

“นิทรรศการ 236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” น้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของบูรพมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 10 ผ่านประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า

ซึ่งได้จัดแสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงพระราชอุตสาหะทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจ อันนำประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย โดย..นิทรรศการแบ่งออกเป็น 12 ห้อง ดังนี้..

ห้องที่ 1 อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา

กรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีเก่าแก่และมั่งคั่งเพราะเป็นเมืองท่าทางการค้าของภูมิภาค ล่มสลายลงในปี 2310 จากการแผ่ขยายอำนาจของพม่า บ้านเมืองถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ ยากจะฟื้นคืนความรุ่งเรืองดุจดั่งเก่า หลังการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่บริเวณทางฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ห้องที่ 2 สงคราม 9 ทัพ สยาม ล้านนา มหากัลยาณมิตร

สงครามระหว่างสยามและพม่าเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญ คือ สงครามเก้าทัพ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ด้วยพระปรีชาสามารถในการบัญชาการรบ จึงทำให้กองทัพของสยามมีชัยเหนือพม่าแม้กำลังพลน้อยกว่า โดยมีกองทัพล้านนาของพระเจ้ากาวิละคอยสนับสนุนและป้องกันการรุกรานทางตอนบนของพระราชอาณาจักร ความสัมพันธ์ของล้านนาและศูนย์กลางแห่งใหม่ของสยามคือ กรุงธนบุรีเมื่อปี 2310 ถึง 2325 และกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เริ่มต้นจาก “การเลือกข้าง” ของผู้นำล้านนาคือพระเจ้ากาวิละที่ทรงเลือกสวามิภักดิ์กับกรุงธนบุรีเพื่อร่วมกันต้านทานกองทัพพม่า

ห้องที่ 3 ตั้งกรุงผดุงเอกราช

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตั้งราชธานีแห่งใหม่ทางฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี เนื่องจากมีชัยภูมิดีกว่าฟากตะวันตกตามตำราพิชัยสงครามในลักษณะนาคนาม โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นฟูความรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า ตลอดจนการศาสนาของพระราชอาณาจักแห่งใหม่ และทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ให้มีความมั่นคงสถาพรดั่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะทุกแขนง ในสมัยนั้นศิลปะจึงฟูเฟื่องขึ้นซึ่งเหมาะแก่กาลสมัยเพราะบ้านเมืองเริ่มมีความมั่นคง การฟื้นฟูศิลปะอันแสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ของชาติจึงมีความจำเป็นเพราะคือการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ความละเอียดอ่อน ที่สำคัญคือการเรียกขวัญและความมั่นใจให้กับคนในบ้านเมืองว่าบ้านเมืองนี้จะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ห้องที่ 4-5 ฟูเฟื่องมหานคร

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ทั้งการสร้างพระอาราม ตลอดจนการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน พระองค์ทรงสนับสนุน ส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับจีน ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งเรือสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีรายได้ในท้องพระคลังเป็นอันมาก

ห้องที่ 6 เมื่อลมเปลี่ยนทิศ

ห้องอุโมงค์แห่งกาลเวลาที่จะนำพาทุกท่านย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่มหาอำนาจจากชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อภูมิภาค สยามต้องมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ห้องที่ 7 เรียนรู้วิทยาการ รากฐานสู่อารยะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ในช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในการรับเอาศิลปวิทยาการและความรู้ในด้นต่าง ๆ ของโลกตะวันตกเข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมสยาม ความรู้แบบดั่งเดิมที่พ้นสมัยถูกท้าทายด้วยการอธิบายด้วยเหตุและผลตามแนวคิดวิทยาศาสตร์มากขึ้น พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ที่หมู่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ร่วมชมเหตุการณ์สุริยุปราคาครั้งนั้น

ห้องที่ 8 สยามสมัยใหม่

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาของการแผ่ขยายอำนาจจากชาติตะวันตก ที่เรียกว่าลัทธิวรรดินิยม สยามต้องเร่งปรับตัวจากการเป็นรัฐจารีตเข้าสู่กระบวนการเป็นรัฐสมัยใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันของจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส สยามต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างจักรวรรดินิยมทั้งสอง ช่วงเวลาเดียวกันนี้ เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงของนครเชียงใหม่ ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ห้องที่ 9 สยามมานุสติ

ในห้วงเวลาของความตึงเครียดเนื่องจากภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี หลังสงครามสิ้นสุด สยามได้ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกและเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ นับเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพในการค้ากับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา และยังเป็นครั้งแรกที่ “ธงไตรรงค์” ปรากฏขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยที่โบกสะบัดอยู่เหนือแผ่นดินยุโรปอย่างภาคภูมิ

ห้องที่ 10 ต่างแคว้นแผ่นดินเดียว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทางรถไฟซึ่งตัดขึ้นมาถึงนครเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินถึงเชียงใหม่ นับเป็นความประทับใจทั้งของผู้คนในสมัยนั้นและจนกระทั่งคนในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงความเป็นสุวรรณปฐพีเดียวกันอย่างแนบแน่น

     และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนั้นจึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป

ห้องที่ 11 ศาสตร์พระราชาพัฒนาชาติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ พระองค์ได้พระราชทานศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาชาติ ไปจนถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ห้องที่ 12 สืบทอดพระราชปณิธาน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยถึงทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

และยังมีมุมถ่ายรูปย้อนยุคในสมัยรัตนโกสินทร์ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเก็บความประทับใจ

----------------------------------------

พิกัด : อาคารนิทรรศการ 2

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 - 18.00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 053-114110 ถึง 5

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย