“คามิเลีย” ดอกชาแสนสวย

  • 10/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 46,042 คน

“คามิเลีย” ดอกชาแสนสวย 

ดอกคามิเลีย (Camellia flower) ดอกไม้เมืองหนาวที่มีกลีบดอกแน่นเรียงตัวอย่างสมบูรณ์แบบราวกระโปรงแสนสวยของเจ้าหญิง มีหลายสี ตั้งแต่สีขาว สีชมพู สีแดงสด ที่ใครเห็นก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชอบ โดยความจริงแล้วดอกคามิเลียที่เราเรียกกันเป็นดอกของพืชที่อยู่สกุลเดียวกับชา (tea) คือสกุล คามิเลีย (Camellia) หากพูดถึงเฉพาะชนิดที่สำคัญจะถูกแบ่งออกเป็น คามิเลียที่นิยมใช้ใบชงเป็นเครื่องดื่ม หรืออาหาร มากกว่าจะรอชื่นชมดอก เรียกว่า ชากินใบ ที่เรารู้จักกันดีนั้นอย่าง ชาเขียว ชาอู่หลง ชาเมี่ยง ชาฝรั่ง จนทาสชาต้องร้องอ๋อ !!! คามิเลียบางชนิดก็ใช้ประโยชน์จากน้ำมันในเมล็ดเพื่อบริโภค เช่น ชาน้ำมัน (oil tea camellia) และ คามิเลียที่นิยมปลูกประดับ หรือ ชาประดับ  เช่น ชาญี่ปุ่น หรือ คามิเลียญี่ปุ่น (Japanese camellia) คามิเลีย Sasanqua เป็นต้น และส่วนใหญ่ก็มักจะเรียกดอกชาประดับเหล่านี้รวมๆ ว่า “คามิเลีย” ซะเลย

ดอกของคามิเลียพบว่ากระจายพันธุ์ในเขตเมืองหนาว สำหรับทวีปเอเชียจะพบมากแถบประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน มีดอกสีสวยโดดเด่น ละม้ายคล้ายดอกกุหลาบขนาดใหญ่ ใช้ประดับสวน ตกแต่งภูมิทัศน์ อย่างเกาะเชจูในประเทศเกาหลีรวมถึงหลายประเทศในเขตเมืองหนาว ที่มีเทศกาลชมสวนคามิเลีย ถือว่าฮอตฮิตไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหลายคนไปเพื่อถ่ายรูปสวยๆ เก็บเป็นภาพประทับใจโดยเฉพาะคู่บ่าวสาว

และในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างรักษาระดับความปลอดภัยจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ ทำให้ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดบรรยากาศด้วยการรวบรวมไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณ รวมถึงดอกชาแสนสวยอย่างคามิเลีย ให้ทุกท่านได้หายคิดถึงบรรยากาศเมืองนอก สามารถชื่นชมดอกไม้ในบรรยากาศที่เย็นสบาย ณ อาคารเรือนไม้ดอก บริเวณสวนกล้วยไม้ได้แล้ววันนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ทุกวัน ค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

              Gao,  J.,  Clifford  R.  P. &  Du,  Y. 2005.  Collected  species  of  the  genus  Camellia an illustrated outline, China: Zhejiang science and technology publishing house.

             Mondal, T. K. 2011. Camellia. National research center of DNA fingerprinting, national  bureau of plant genetic resources, Pusa, New Delhi, India

             พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ สุนทร ดุริยะประพันธ์ ทักษิณ อาชวาคม สายันต์ ตันพานิช ชลธิชา นิวาสประกฤติ และปรียานันท์ ศรสูงเนิน. 2544. ทรัพยากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16:พืชให้สารกระตุ้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.235 น.

   

         

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย