จำปี vs จำปา

  • 15/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 55,282 คน

จำปี vs จำปา

จำปีและจำปา ไม้หอมกลุ่มแมกโนเลีย  เป็นกลุ่มพรรณไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาไม้ดอกในปัจจุบัน เนื่องจากการพบซากดึกดำบรรพ์ของพืชกลุ่มแมกโนเลีย จึงเชื่อกันว่าเป็นพรรณไม้โบราณที่มีวิวัฒนาการมาก่อนผึ้งทีเดียว และที่มาของบทความนี้มาจากที่คนส่วนใหญ่มักเรียกรวมกันว่า “จำปีจำปา” ทั้งๆ มันคนละต้นกัน วันนี้เราจะมาเคลียร์ข้อข้องใจสำหรับผู้ที่อยากเรียกชื่อต้นไม้สองชนิดนี้ให้ถูกต้องเสียที และไปล้วงลึกดูกันว่าจำปีและจำปามีดีที่น่าสนใจอย่างไร

จำปีกับจำปา เป็นไม้หอมอยู่ในสกุลแมกโนเลีย (Magnolia) เหมือนกัน ต่างกันที่ชนิด “จำปี” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia x alba (DC.) Figlar ดอกตูมรูปกระสวย กลีบดอกรูปรีแกมรูปใบหอก สีขาวนวลหรือสีงาช้าง ส่วน “จำปา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca (L.) Baillon ex Pierre var. champaca ดอกตูมรูปกระสวย และกลีบดอกรูปรีแกมรูปในหอกเช่นกัน แต่กลีบดอกชั้นนอกของจำปาจะค่อนข้างยาวกว่ากลีบดอกชั้นในซึ่งต่างจากจำปี และสีดอกของจำปาจะมีสีเหลืองเข้ม ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ ผลของจำปาจะเป็นกลุ่มเด่นชัด ต่างจากจำปีที่ปลูกทั่วไปมีโอกาสติดผลน้อยมากในบางพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ติดผล

“จำปี จำปา ต้นไม้มูลค่าสูงใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้” ประโยชน์ของจำปีและจำปานอกจากกลิ่นหอมที่ใช้ในพิธีการต่างๆ แต่งกลิ่นอาหารและเครื่องสำอางแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา และเนื้อไม้มีความเหนียว มัน ทนปลวกได้ดี ทรงต้นให้ร่มเงา เป็นหนึ่งในไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในบรรดาต้นไม้ 58 ชนิดที่กระทรวงพาณิชย์พิจารณารองรับให้ใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อได้ กลิ่นหอมที่ให้มูลค่าทางจิตใจแล้ว ยังให้สร้างรายได้ทำเงินได้อีกด้วย

ไม้เศรษฐกิจที่ไม่ได้มีแค่จำปีกับจำปา ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ สนใจเที่ยวชมและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรติดต่อ 053-114195

ข้อมูลอ้างอิง

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2545. แมกโนเลียเมืองไทย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บ้านและสวน.

ต้นไม้ 58 ชนิด ที่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อได้. 2561. (29 กรกฎาคม). มติชน. แหล่งที่มา http://www.dmr.go.th/download/article/article_20180731105222.pdf

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย