เรื่องลับๆ ของรังต่อ

  • 17/09/2020
  • จำนวนผู้ชม 41,406 คน

เรื่องลับๆ ของรังต่อ

"ตัวต่อ" แมลงชนิดนี้ เมื่อได้ยินชื่อทุกคนคงนึกถึงภาพแมลงที่ ต่อยเจ็บ และอันตรายถึงชีวิตได้ ตัวต่อจัดอยู่ในกลุ่ม Hymenoptera กลุ่มเดียวกันกับ ผึ้ง มด ชันโรงและ แตน แต่หลายคนยังแยกไม่ได้ว่าแมลงที่เจอจะเรียกว่า ต่อ หรือ แตน โดยวิธีสังเกตเบื้องต้นคือ ต่อมีความยาวลำตัวตั้งแต่ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป ในขณะที่แตนจะมีลำตัวความยาวไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร และแตนจะมีรูปร่างที่ผอมเพรียวกว่าต่อ และยังมีความแตกต่างในด้านการสร้างรัง ตัว “ต่อ” จะมีลักษณะการสร้างรังเป็นทรงกลม ส่วนตัว “แตน” จะมีการสร้างรังหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นรูปฝักบัว เป็นแผ่น หรือเป็นสายยาว

นอกจากลำตัวและลักษณะของรังที่ใช้จำแนกตัวต่อและแตนแล้ว รังของพวกมันยังซ่อนความลับอะไรให้เราได้ค้นหาอีก วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักความลับของรังแมลงวายร้ายๆ ตัวนี้กัน

รังของต่อและแตนส่วนใหญ่มีช่องเป็นรูปหกเหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นรูปทรงที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้สูงสุด และมีความแข็งแรง โดยรังต่อส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ส่วนรังแตนนั้นจะมีหลากหลายรูปทรงมากกว่า ส่วนวัสดุที่ต่อแตนนำมาใช้ในการสร้างรังก็มีทั้งดิน โคลน เศษไม้ ใบไม้ เยื่อไม้ ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของต่อและแตน ซึ่งแมลงชนิดนี้มีส่วนปากที่มีลักษณะพิเศษแบบกัดกิน มีกรามใหญ่ ทำให้สร้างรังที่มีความซับซ้อนได้มากว่าสัตว์อื่น มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ข้อสังเกตไว้ว่า การสร้างรังของต่อที่สร้างจากเศษไม้ เป็นความคิดริเริ่มให้มนุษย์รู้จักสังเกตการเคี้ยวบดเนื้อไม้ของต่อเพื่อนำมาสร้างรังกลายเป็นต้นแบบในการทำกระดาษของมนุษย์ที่เกิดจากความพยายามเลียนแบบธรรมชาติ และเป็นต้นแบบของการสร้างอาคารสูงที่มีความมั่นคงแข็งแรงด้วย “ผมเข้าใจว่าเจ้าตัวต่อสามารถดึงด้ายจากไม้และทำรังกระดาษได้โดยที่มันเคี้ยวเนื้อไม้จนละเอียด แล้วยาติดกันด้วยน้ำลาย” ข้อสังเกตของเรเน อองตวน แฟร์โชส์ เดอ โรเมอร์ นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ให้ไว้เมื่อปี 1719 เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การผลิตกระดาษจากไม้ ซึ่งเดิมนั้นใช้ปอ ลินินและฝ้ายเป็นวัตถุดิบ ความลับของเหล่าสิ่งมีชีวิต 6 ขา ยังคงรอการค้นพบอีกมากมาย ร่วมค้นหาเรื่องลับๆ เหล่านี้ได้ที่อาคารโลกแมลง ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์

 

อ้างอิง

MGR Online (2550) เฟ้นหายอดนักสื่อสาร “แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่เทคโนโลยี” (ออนไลน์) https://mgronline.com [สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2563]

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย