ทศพิธราชธรรม...นำสุขเพื่อปวงประชา

  • 12/10/2020
  • จำนวนผู้ชม 3,349 คน

ทศพิธราชธรรม...นำสุขเพื่อปวงประชา

 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม

เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

          ประโยคข้างต้นคงเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของผู้อ่านหลายๆ ท่าน เพราะเป็นพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

           ตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ได้นำหลัก “ทศพิธราชธรรม” มาใช้ในการปกครองบ้านเมืองและดูแลพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา รวมถึงโครงการส่วนพระองค์หลาย ๆ โครงการต่างเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากสากลโลก

          สำหรับตัวผู้เขียน แม้จะมิได้เกิดในช่วงที่พระองค์ทรงงานหนักหรือเสด็จไปตามถิ่นทุรกันดาร แต่ด้วยการรับรู้ผ่านการบอกเล่าจากทั้งครูและญาติผู้ใหญ่ รวมถึงได้เห็นภาพจากหนังสือหรือตามสื่อต่างๆ ก็ทำให้ตัวผู้เขียนเองรู้สึกทึ่งและสงสัยว่าทำไมคนๆ หนึ่งต้องทำอะไรมากมายขนาดนี้ ? ทำไมต้องเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนมากมายขนาดนี้ ? แต่พอย้อนกลับไปอ่านพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ท่านก็เข้าใจและได้คำตอบของคำถามนั้นทันที เพราะทุกสิ่งที่พระองค์ทำก็เพื่อประโยชน์สุขของพวกเราทุกคนนั่นเอง

     ซึ่งภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์หรือที่ผู้เขียนมักเรียกว่า “สวนของพ่อ” ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน แต่มีส่วนจัดแสดงหนึ่งที่สื่อถึงทศพิธราชธรรมโดยตรงนั่นก็คือ “ต้นบรมโพธิสมภาร” ซึ่งอยู่ภายในหอคำหลวงที่สวยงามโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้ที่งดงามแห่งนี้

           ต้นบรมโพธิสมภาร มีโครงสร้างหลัก ๒ ส่วน คือ ฉัตรสีทอง ๙ ชั้น และพุ่มดอกบัวตูม ๙ พุ่ม แต่ละพุ่มมีใบโพธิ์ ๒,๔๓๕ ใบ รวมทั้ง ๙ พุ่มจะมีใบโพธิ์ ๒๑,๙๑๕ ใบ ซึ่งเท่ากับจำนวนวันที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในใบโพธิ์แต่ละใบจะจารึกธรรมะทั้ง ๑๐ ข้อแห่งทศพิธราชธรรมไว้ โดย ๑ ใบจะจารึกไว้ ๑ ข้อ ต้นบรมโพธิสมภารออกแบบโดย ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๒

          สำหรับความหมายของทศพิธราชธรรม คือ จริยาวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง ๑๐ ประการ อันได้แก่ ๑. ทาน คือ การให้ ๒. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ๓. บริจาค คือ ความเสียสละ ๔. อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ๕. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน ๖. ตบะ คือ การข่มกิเลส, ความเพียร ๗. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ ๘. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน ๙. ขันติ คือ ความอดทน ๑๐. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดจากธรรมหรือความเที่ยงธรรม

          ภายในหอคำหลวง นอกจากจะมีต้นบรมโพธิสมภารที่งดงามและทรงคุณค่าแล้ว ผนังรอบ ๆ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบลงรักปิดทองกำมะลอ ซึ่งเป็นภาพการทรงงานของพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยอีกด้วย

 

“เพราะไม่มีที่ใดในแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง”

 

      ท่านที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.  (๒๕๕๑).  ทศ แปลว่า สิบ.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก :http://www.royin.go.th/?knowledges=ทศ-แปลว่า-สิบ-๑๕-สิงหาคม-๒#:~:text=ทศ%20แปลว่า%20สิบ,หน้าสมาส%20แปลว่า%20สิบ. [๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓].

อุทยานหลวงราชพฤกษ์.  (ม.ป.ป.).  ต้นบรมโพธิสมภาร.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก :http://royalparkrajapruek.org/interior.html. [๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓].

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย