สำรับอาหารจากไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ

  • 29/10/2020
  • จำนวนผู้ชม 1,339 คน

สำรับอาหารจากไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้นั้นก็เนื่องมาจากปัจจัยสี่ ซึ่ง “อาหาร” ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญข้อหนึ่งในนั้น แต่อาหารไม่เพียงแค่ช่วยให้เราอิ่มท้องเพียงอย่างเดียว เพราะยังช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

          สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดได้ว่าอุดมสมบูรณ์ในด้านของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทรัพยากรเหล่านั้นให้ประโยชน์ที่หลากหลายโดยเฉพาะอาหารการกินที่คนไทยสมัยก่อนรู้จักหาวัตถุดิบตามธรรมชาติมาปรุงแต่งเป็นเมนูอาหารเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัว และแต่ละภูมิภาคก็มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันไป

       ความแตกต่างของอาหารในแต่ละภูมิภาคหรือแม้แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า “ชาวไทยภูเขา” สังเกตได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของรสชาติ กรรมวิธีในการปรุง และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดก็คือ วัตถุดิบจากแหล่งที่มาในพื้นที่นั้น ๆ และในบทความนี้ จะได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินอยู่ของชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ ค่ะ

          ชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ร่วมกับป่าและธรรมชาติ ซึ่งอาชีพหลัก ๆ ได้แก่ 1) การทำนาขั้นบันได เป็นการทำนาในบริเวณที่มีการทดน้ำได้ และจะต้องเป็นบริเวณที่ราบหุบเขา นาขั้นบันไดเป็นแหล่งทำกินที่ถาวร แสดงให้เห็นถึงการตั้งหลักปักฐาน และ 2) การทำไร่หมุนเวียน โดยไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอจะไม่ทำลายระบบนิเวศเพราะไม่ใช้สารเคมี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คน สัตว์ป่า และป่า สามารถเอื้อประโยชน์และอาศัยอยู่ร่วมกันได้ นอกจากชาวปกาเกอะญอจะทำนาขั้นบันไดและทำไร่หมุนเวียนแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย โดยส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อประกอบพิธีกรรมและใช้แรงงานเป็นหลัก จากนั้นคือขายและทำเป็นอาหารกินกันในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน

       จะเห็นได้ว่าการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและอาหารการกินของทุกครัวเรือน เนื่องจากเป็นการทำไร่หมุนเวียนโดยภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อเก็บรักษาพันธุ์ท้องถิ่น และจะปลูกพืชผักตามฤดูกาล ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปลูกสามารถเก็บมาบริโภคและทำอาหารได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น อาหารพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอจะได้มาจากวัตถุดิบเฉพาะถิ่นและมักจะรับประทานอาหารจากวัตถุดิบที่ได้ตามฤดูกาล แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ในทุกเมนูอาหาร หรือ “พระเอก” นั่นก็คือ “ฮอวอ”

       ฮอวอ ลักษณะใบรูปหอก ขอบมีลักษณะหยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ลำต้นมีสีแดงเรื่อๆ เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลมิ้นต์ ซึ่งนอกจากกลิ่นเฉพาะตัวที่เป็นกลิ่นแบบมินต์แล้ว ยังผสมผสานกับกลิ่นตะไคร้ และมะกรูดรวมกัน บางทีชาวบ้านยังบอกว่ามีกลิ่นเหมือนต้มยำ ทั้งที่ในอาหารนั้นปรุงแค่ใบฮอวอแค่อย่างเดียว ฮอวอเกิดขึ้นตามพื้นที่ไร่หมุนเวียน และถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของปกาเกอะญอ สามารถเอามาใส่ในสารพัดเมนูและช่วยชูรสชาติอาหารได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ทำน้ำสลัด หรือดองเหล้า นอกจากวัตถุดิบหลักที่เป็นพระเอกอย่าง “ฮอวอ” แล้ว ชาวปกาเกอะญอในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีวัตถุดิบหลักที่โดดเด่นประจำถิ่นที่แตกต่างกันด้วย

        สามารถเรียนรู้องค์ความรู้ ศิลปวัฒนธรรมบนพื้นที่สูง ได้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือความรู้ผ่านบทความได้จากเว็บไซต์อุทยานหลวงราชพฤกษ์ : www.royalparkrajapruek.org และเว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) : www.hrdi.or.th แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนะคะ

 

แหล่งที่มาของข้อมูล :

Foodle taste.  (ม.ป.ป.).  ใบฮอวอ.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก :http://www.foodietaste.com/FoodPedia_detail.asp?id=453. [18 ตุลาคม 2563]

ณวรา หิรัญกาญจน์.  (2560).  เปิดหนังสือ  สำรวจจักรวาลอาหารจากไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ จังหวัดเชียงราย.  (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://readthecloud.co/local-5/. [18 ตุลาคม 2563]

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย.  (2559).  ชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือ ปกาเกอะญอ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://impect.or.th/?p=15026. [18 ตุลาคม 2563]

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย