กุหลาบ...ความสุขจากยอดดอย
กุหลาบ “ราชินีไม้ดอก” ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความคลาสสิค หรูหรา เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความโรแมนติก เป็นเหตุให้ผู้คนนิยมปลูกกุหลาบเพื่อการค้า ทั้งขายเป็นต้นพันธุ์ หรือตัดดอกจำหน่าย นอกจากจะนิยมปลูกเลี้ยงทั่วไป ตกแต่งสวน ตกแต่งสถานที่ จัดช่อดอกไม้ ด้วยความที่กุหลาบมีกลีบหยักซ้อนแน่น ทรงสวย กลิ่นหอม สีสันหลายเฉด ตั้งแต่สีเข้มอย่างมีเสน่ห์น่าดึงดูด ไปจนถึงสีพาสเทลหวานๆ จึงนับว่าไม่มีดอกไม้ชนิดไหนที่โรแมนติกเท่ากับดอกกุหลาบอีกแล้ว
แต่ !! “กุหลาบ” ก็ไม่ได้มีแค่ความสวย หลายส่วนของกุหลาบสามารถทานได้ เช่น กลีบ (Petals) ใช้เป็นส่วนประกอบในสลัด ยำ ชุบแป้งทอด เป็นต้น อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยจากกลีบกุหลาบ ที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ คลายกังวล ลดความเครียด เสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย รู้สึกกระชุ่มกระชวย จึงเป็นจุดเด่นที่ถูกดึงเอาไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขนม เบเกอรี่ พุดดิ้ง เครื่องดื่มต่างๆ หรือแม้กระทั่งในเครื่องสำอาง น้ำหอม เป็นต้น นอกจากกลีบดอกแล้ว ผลกุหลาบ (Rose hip) ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ผลนั้นก็มีสรรพคุณที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งวิตามินซีสูง ป้องกันรักษาไข้หวัด ชาผลกุหลาบแก้ท้องร่วง ช่วยให้ไตแข็งแรง น้ำมันสกัดจากผลใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เป็นต้น
การปลูกกุหลาบในประเทศไทยนิยมปลูกเพื่อการค้ามานาน และแพร่กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่การผลิตกุหลาบที่ให้คุณภาพดอกดี ทั้งขนาดดอก อายุการปักแจกันนาน อยู่ในพื้นที่สูงของภาคเหนือ ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มรวบรวมพันธุ์กุหลาบที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงหารายได้เป็นอาชีพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน และทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ได้รวบรวมและจัดแสดงกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ ของเกษตรกรบนพื้นที่สูง ในนามของมูลนิธิโครงการหลวงและสวนเอกชนต่างๆ ไว้ที่โดมกุหลาบให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินไปกับสวนที่สร้างบรรยากาศด้วยกุหลาบ และได้ความรู้จากกุหลาบนานาพันธุ์ ในช่วงงานเทศกาลชมสวนฤดูหนาว (Flora Festival 2020) ภายใต้แนวคิด “ความสุขจากยอดดอย” เพื่อส่งต่อความสุขจากชุมชนบนพื้นที่สูงให้แก่ประชาชนบนพื้นราบ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกเหนือจากสายพันธุ์กุหลาบจากพื้นที่สูงที่จัดแสดงแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จากกุหลาบสมนาคุณนักท่องเที่ยวที่เข้าชมสวนในช่วงนี้อีกด้วย สนใจเที่ยวชมและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรติดต่อ 053-114110-5
ข้อมูลอ้างอิง
พจนา นาควัชระ. 2558. กุหลาบ. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์บ้านและสวน. 260 หน้า.
Royal Horticultural Society of England. 2011. Encyclopedia of Roses. England:Dorling Kindersley Limited.
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. มมป. กุหลาบมอญ ดอกไม้หอมมีประโยชน์. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0303.pdf