โครงการวิจัยการฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) EP.2 

  • 16/02/2021
  • จำนวนผู้ชม 505 คน

โครงการวิจัยการฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) EP.2 


ต่อจากเมื่อตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงโครงการวิจัยการฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) และความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนบนพื้นที่สูง หนึ่งในโครงการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยมีทีมนักวิจัยเข้าสำรวจพืช ผัก ที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการของชุมชน มุ่งเน้นการฟื้นฟูพืชอาหาร สมุนไพร และพลังงานในท้องถิ่น ทั้งที่สูญหาย ใกล้สูญหาย หรือยังมีอยู่ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วนั้น และยังได้ทิ้งท้ายว่า...แล้วมีแหล่งอาหาร พืชสมุนไพรชนิดไหนบ้าง? ที่ได้อนุรักษ์และให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการรักษาและขยายพันธุ์ เรามาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันได้เลย

กว่าหลายปีที่เริ่มโครงการมา (ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550) โดยเป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับ 54 ชุมชน ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ใน 7 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี) ได้เข้าดำเนินงานใน 31 พื้นที่ 54 ชุมชน 8 ชนเผ่า ได้แก่..ชนพื้นเมือง กะเหรี่ยง ม้ง เย้า อาข่า ปะหล่อง ไทยใหญ่ และลั๊วะ ได้รวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูง จำนวน 1,262 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย พืชอาหาร สมุนไพร พืชพลังงาน พืชให้สีย้อมธรรมชาติ พืชพิษ พืชใช้สอยอื่นๆ โดยบางชนิดนั้นเป็นพืชหายากหรือใกล้สูญหาย เช่น ตีนฮุ้งดอย หวายหนามเกี้ยว ขมิ้นต้น หงส์ผาคำ โลงเลง คานหาน และมะกิ้ง ฯลฯ

โดยทางโครงการได้อนุรักษ์และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาและขยายพันธุ์ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์และปลูกฟื้นฟูพืชท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และพลังงานใน 41 ชุมชน รวม 890 ชนิด แบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ 1,032 ไร่ และพื้นที่สวนหลังบ้าน 110 ครัวเรือน จำนวน 70 ไร่ เช่น ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน เต่าร้าง ต้างหลวง หวาย เชียงดา ผักเฮือด ผักฮาก มะขม ลูกเนียง ตองหอม และเฮาะที เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และพัฒนาชุมชนต้นแบบ ที่สามารถสร้างรายได้จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารและยาสมุนไพรสำหรับใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอและลดการพึ่งพาจากภายนอก เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายชุมชน และขยายผลสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นต่อไป

แหล่งข้อมูล : hrdi.or.th

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย