พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๗

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 5,511 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๗

 

                                       “พรรณไม้ชมพูหวานเดือนแห่งรัก          ถวายภักดิ์สดุดีเจ้าฟ้าสยาม

                                กุหลาบสิรินธร ไม้พระนาม                         พรรณไม้งามราชสกุลมหิดล

                                ฟาแลนนอพซิสพรินเซสจุฬาภรณ์              อรชรอ่อนระเรื่อชมพูยล

                                หวายชมพูนครินทร์ ตรึงกมล                      รัฐราษฎร์ชนสรรเสริญพระบารมี”

                    

          ในโอกาสเดือนแห่งความรัก ผู้เขียนขอนำพรรณไม้พระนามราชสกุลมหิดล ไม้ดอกโทนสีชมพู สีสันอันงดงามและอ่อนหวาน เช่น กุหลาบพระนามสิรินธร ดอกกุหลาบสีชมพูเหลือบเหลือง ที่มีกลิ่นหอม กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พรินเซสจุฬาภรณ์ ดอกกล้วยไม้สีขาวชมพูระเรื่อกรุ่นกลิ่นหอมอ่อนๆ และกล้วยไม้หวายชมพูนครินทร์ ถึงแม้จะเป็นดอกกล้วยไม้ที่ไม่มีกลิ่นหอม แต่ด้วยรูปลักษณ์อันโดดเด่นนั้น งดงามเป็นที่น่าประทับใจยิ่งนัก ออกเผยแพร่เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณเจ้าฟ้าแห่งสยามประเทศ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

กุหลาบพระนามสิรินธร

(Princess Maha Chakri Sirindhorn Rose)

 

                                                            “พระนาม กุหลาบ เจ้า     สิรินธร

                                                   กลีบกลิ่นอรชร                         ยิ่งแล้ว

                                                   ชมพูเหลือบเหลืองอ่อน             ซ้อนกลีบ

                                                   งามเพริศงามพรรณแพร้ว           ดอกไม้พระนาม”

  

          ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร. พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กุหลาบประเภทดอกใหญ่ (Hybrid Tea) พันธุ์หนึ่งชื่อ Madras มีดอกสีชมพูแกมม่วง ของบริษัทผู้ผลิตกุหลาบรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ บริษัท แจ็คสันแอนด์เพอร์กินส์ จำกัด ได้รับคัดเลือกเป็นกุหลาบแห่งปี  นายจีระ ดวงพัตรา แห่งไร่จีระโรสเนิสเซอรี่ ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้สั่งกุหลาบชนิดนี้เข้ามาปลูกได้ประมาณ ๒-๓ เดือน พบว่าเกิดกลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน ให้ต้นใหม่ที่มีดอกสีชมพูเหลือบเหลือง เมื่อทดลองติดตาจนแน่ใจว่าเป็นกุหลาบพันธุ์ใหม่ จึงได้ขอพระราชทานชื่อกุหลาบพันธุ์นี้ว่า “พระนามสิรินธร” นับได้ว่าเป็นกุหลาบพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะเป็นกุหลาบพุ่มชนิดดอกโต (Bush - Rose) สีชมพูเหลืองเหลือบ กลีบซ้อนแน่น สวยงามมาก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาต จึงได้จดทะเบียนไว้ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Princess Maha Chakri Sirindhorn”

          กุหลาบพระนามสิรินธร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rosa ‘Princess Maha Chakri Sirindhorn’ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ROSACEAE ไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ ๑ เมตร ลำต้นแก่สีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียว ตามกิ่งก้านสาขามีหนามแหลม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยรูปรี ออกเวียนสลับ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีเขียวเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายกลีบแยก ๕ แฉก กลีบดอกสีชมพูอมเหลือง จำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกออกตลอดปี

 

 

กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พรินเซสจุฬาภรณ์

(Princess Chulabhorn Phalaenopsis)

 

                                                      “ฟาแลนนอพซิส นี้        ชมออน อ่อนหวาน

                                           ขาวระเรื่อเงินซ้อน                     ทั่วหล้า                    

                                           พรินเซสจุฬาภรณ์                     ล้ำค่า ท่านนา

                                           เทิดพระเกียรติเจ้าฟ้า                 นบเกล้าสดุดี”

         

          ศาสตราจารย์ ดร. พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์เล็กใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิตสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระธิดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

          พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล                                            

          กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พันธุ์ไม้พระนามนี้เป็นลูกผสมระหว่าง Phalaenopsis ‘Rose Miva’ กับ Phalaenopsis ‘Kandy Queen’ ซึ่งทั้งสองชนิดล้วนเป็นสายพันธุ์ที่มีความงดงามอันโดดเด่น โดยรัฐบาลของประเทศศรีลังกาได้น้อมเกล้าฯ ถวายกล้วยไม้พระนามนี้เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสวนพฤกษศาสตร์เปราเดนนิยา เมืองแคนดี ในวันที่ ๒๗ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเทิดพระเกียรติแด่องค์เจ้าฟ้าฯ ผู้ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก

          กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พรินเซสจุฬาภรณ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Phalaenopsis ‘Princess Chulabhorn’ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทอิงอาศัย ลำต้นสูง ๘-๒๐ เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม รูปรีแกมขอบขนาน ออกเรียงสลับสองข้าง แผ่นใบอวบน้ำ กว้าง ๕-๘ เซนติเมตร ยาว ๑๐-๑๖ เซนติเมตร ดอกสีขาวนวล ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อยาว ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ลักษณะกว้างกลมมน มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗.๕-๙ เซนติเมตร ตอนกลางดอกเป็นสีชมพูอ่อน กลีบปากส่วนโคนสองข้างแผ่ออกเป็นปีก ตอนปลายยาวเรียวเป็นเส้นขอบสีเหลืองตอนกลางมีจุดประสีเลือดหมูแต้มทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดทั้งปี

 

 

กล้วยไม้หวายชมพูนครินทร์

(Pink Nagarindra)

                                                        “กล้วยไม้หวาย ค่าล้ำ      ชมพู นครินทร์

                                           เทิดพระพี่นางผู้                           ยิ่งฟ้า

                                           เกล็ดเงินระยับชู                          ขาวเรื่อ ชมออน

                                           พระเกียรติคุณก้องหล้า                 นบน้อมสรรเสริญ”

         

          ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุ ๘๔ พรรษา พระองค์ท่านเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่นๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา และด้านการถ่ายภาพ

          กล้วยไม้หวายชมพูนครินทร์ กล้วยไม้ลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์เอริก้า (Dendrobium ‘Arica’) และต้นพ่อพันธุ์บลัชชิ่ง (Dendrobium‘Blushing’) โดยนายสวง คุ้มวิเชียร บริษัทแอร์ออร์คิดเป็นผู้พัฒนาพันธุ์ ได้รับพระราชทานนามพันธุ์ “ชมพูนครินทร์” จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐

          กล้วยไม้หวายชมพูนครินทร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrobium ‘Pink Nagarindra’ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทอิงอาศัย เจริญเติบโตทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ใบหนาแข็ง รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง  ๗-๘ เซนติเมตร ยาว ๑๑-๑๓ เซนติเมตร ปลายใบแหลม ช่อดอกออกจากซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อมี ๖-๙ ดอก ก้านดอกยาว ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ปลายกลีบมีสีขาวแต้มชมพูอมส้ม กลีบปากสีชมพูเข้ม เนื้อกลีบมีเกล็ดสีเงินระยิบระยับอ่อนๆ เมื่อถูกแสง  ในช่วงอากาศหนาวดอกจะเปลี่ยนเป็นสีโอลด์โรสเข้มทั้งดอก ออกดอกตลอดทั้งปี

           

          พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดลในบทความตอนนี้ ได้นำเสนอกุหลาบพระนามสิรินธร กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พรินเซสจุฬาภรณ์ และกล้วยไม้หวายชมพูนครินทร์ พรรณไม้พระนามดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีดอกโทนสีชมพูระเรื่อเจือสีได้อย่างสวยสดงดงามอ่อนหวานยิ่งนัก พร้อมกับกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นเสน่ห์ที่สื่อถึงความรักในเทศกาลแห่งรัก สีและกลิ่นที่ให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่นใจในความปลอดภัย และความวางใจในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความปกติสุข สงบ ร่มเย็น เหล่าข้าพสกนิกรต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระราชกรณียกิจเจ้าฟ้าแห่งสยามทั้ง ๓ พระองค์ ที่ทรงกอปรนานัปการ เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วในพระเกียรติคุณ เพื่อทรงแบ่งเบาพระราชภาระแห่งองค์มหาราชเจ้า พระมหากษัตริย์จอมราชันย์ และเพื่อให้เหล่าอาณาประชาราษฎร์นั้นยังประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน เป็นบุญยิ่งแล้วที่ได้เกิดภายใต้เบื้องพระยุคลบาท ขอเป็นข้ารองบาทราชสกุลมหิดลแห่งจักรีวงศ์ทุกชาติไป

 

กวีศิลป์   คำวงค์

 

อ้างอิง

 

ภวพล ศุภนันทนานนท์. พรรณไม้พระนาม คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ ๖. บ้านและสวนอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์
          พับลิชชิ่ง. กรุงเทพมหานคร. ๑๑๑ หน้า.

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. ๒๕๔๖. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม ๗. โอ.เอส.
          พริ้นติ้ง เฮาส์ จำกัด. กรุงเทพมหานคร. ๓๔๕ หน้า.

http://th.wikipedia.org/wiki/

 

อ้างอิงรูปภาพ

 

http://www.weloveorchid.com/

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=637150

http://monrakseoon.blogspot.com/2013_07_01_archive.html

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2378.195

http://www.pflanzenfreunde.com/orchid-photos/orchids-8.htm

 

 

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย