พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๙

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 2,356 คน
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๙

 

          สายฝนที่เริ่มโปรยปรายยามวสันตฤดูอีกคราวหนึ่ง บ่งบอกถึงวันเวลาที่ได้ล่วงเข้ามาสู่ฤดูฝน ความฉ่ำชื่นจากเม็ดฝนนอกจากจะยังประโยชน์ให้กับเกษตรกรในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำอันโสมนัสยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที พระประสูติกาลในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิดลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร

          เนื่องในโอกาสเดือนกรกฎาคม ผู้เขียนขอนำเสนอบทความพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๙  เดือนแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งฝ่าละอองพระบาทได้พระราชทานชื่อกล้วยไม้สกุลแอสโคเซนด้า ว่า “สุคนธรัศมิ์” ตามพระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพรรณไม้สกุลเฟิน ว่า “รัศมีโชติ” ตามพระนามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

          และวันคล้ายวันประสูติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ซึ่งฝ่าพระบาทได้ประทานชื่อกล้วยไม้สกุลหวาย ว่า “โสมสวลี”

 

กล้วยไม้แอสโคเซนด้าสุคนธรัศมิ์

                                        Ascocenda ‘Sukontharat’

 

                                                          “กล้วยไม้เหลืองแสดส้ม       หอมกลิ่น

                                                  สง่างามสยามถิ่น                        แหล่งหล้า

                                                   สุคนธรัศมิ์ ริน                            ระรื่น จรุงใจ

                                                   พันธุ์แอสโคเซนด้า                     คู่ฟ้าแดนไทย”

 

          กล้วยไม้ลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์แอสโคเซนด้า คุณนก (Ascocenda ‘Khun Nok’) และต้นพ่อพันธุ์แวนด้าสามปอยขุนตาล (Vanda denisoniana Benson & Rchb.f.) โดยคุณสานนท์ อภิโช แห่งบริษัทเอพีไอ ออร์คิดส์เป็นผู้ผสมพันธุ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และอนุญาตให้คุณปริยุตต์ ยุวานนท์ บริษัทสากลออร์คิดซึ่งเป็นผู้ปลูกเลี้ยงออกดอกเป็นคนแรกดำเนินการจดทะเบียนชื่อ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้พระราชทานชื่อกล้วยไม้เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า สุคนธรัศมิ์ แปลว่า “มีกลิ่นหอม อบอวล จรุงใจ”  

 

 

เฟินรัศมีโชติ

Blechnum x rasmijoti ‘The Royal Project’

         

                                                             “พันธุ์ไม้งามชื่อนี้          ทรงโปรด

                                                    เฟินรัศมีโชติ                         ช่อช้อย

                                                    โสมนัสสมโภช                      ราช นัดดา

                                                    ไม้ประดับพันร้อย                   บ่สู้เทียบเทียม”

 

          “เฟินรัศมีโชติ ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นเฟินลูกผสมระหว่าง
กูดดอยใบมัน (Blechnum gibbum (Labill.) Mett.) กับ กูดดอยบราซิล (B. brasilense Desv.) ที่มีความสวยงาม และแข็งแรงกว่า ซึ่งเป็นผลงานของโครงการพัฒนาสายพันธุ์เฟิน โดยมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเริ่มเพาะผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และเก็บข้อมูลศึกษามาโดยตลอด จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจ โครงการหลวงจึงได้นำต้นพันธุ์น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี ๒๕๔๙

 

 

กล้วยไม้หวายโสมสวลี

Dendrobium ‘Soamsawali’

 

                                                          “งามช่อครามม่วงคล้าย     เรื่อสี ชมพู

                                                    กลีบดอกงามพันธุ์ศรี              ม่วงไม้

                                                    หวายโสมสวลี                      งามเด่น

                                                    พระนามประทานไว้                สืบไม้พันธุ์งาม”

         

          กล้วยไม้ลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์กล้วยไม้หวายธนิดาไวท์ Dendrobium Thanida White และต้นพ่อพันธุ์ลูกผสมของหวายคอมแพ็คตั้ม กับหวายโบตาบลู (Dendrobium compactum Rolfe ex W.Hackett Dendrobium ‘Bota Blue’) โดย
คุณสวง คุ้มวิเชียร แห่งบริษัทแอร์ออร์คิดเป็นผู้พัฒนาพันธุ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับประทานพระนามพันธุ์ โสมสวลี 
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

 

           อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้นำพรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดลมาปลูกจัดแสดงให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม เฟินรัศมีโชติปลูกจัดแสดงที่เรือนร่มไม้ และโดมไม้เขตร้อนชื้น ซึ่งสามารถชมความงดงามอย่างโดดเด่นของเฟินสายพันธุ์ดังกล่าวได้ตลอดทั้งปี ส่วนกล้วยไม้แอสโคเซนด้าสุคนธรัศมิ์ ปลูกจัดแสดงไว้ยังสวนกล้วยไม้ บริเวณสวนลำธาร สามารถชื่นชมความงดงาม และพิสูจน์กลิ่นหอมอันน่าประทับใจได้ตลอดทั้งปี ออกดอกมากในช่วงฤดูหนาวราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ และกล้วยไม้หวายโสมสวลีเป็นสายพันธุ์กล้วยไม้ที่ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ต้องจัดหามาปลูกจัดแสดงให้ได้ชื่นชมในโอกาสต่อไป ทั้งนี้นอกจากได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้อันงดงามดังกล่าวแล้ว ยังได้ร่วมเทิดพระเกียรติราชสกุลมหิดล ที่ทุกพระองค์ทรงกอปรราชกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามดังพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

กวีศิลป์ คำวงค์

 

อ้างอิง

ภวพล ศุภนันทนานนท์. ๒๕๕๕. พรรณไม้พระนาม คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ ๖ ลำดับที่ ๕๑. สำนักพิมพ์บ้าน

           และสวน อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. กรุงเทพมหานคร.

http://th.wikipedia.org/wiki/

http://www.fernsiam.com/FernWorld/Taxonomy/BLECHNACEAE/Blechnum/

 

อ้างอิงภาพ

http://muangsiri.com/_data/2/pic/6406-14.jpg

http://www.weloveorchids.com

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย