อินทนิล - เสลา - ตะแบก

  • 24/06/2021
  • จำนวนผู้ชม 42,178 คน

          ใครไหวไปก่อนได้เลย  ทางนี้สับสนมากระหว่างแฝดสี่ แฝดพี่แฝดน้อง ของ ต้นเสลา ต้นตะแบก ต้นอินทนิล แล้วยังแบ่งเป็นอินทนิลน้ำกับอินทนิลบกไปอีก 
           พรรณไม้ทั้งสี่ชนิดที่ว่ามานี้เป็นพรรณไม้กลุ่มสี ที่คุมโทนสีม่วงเป็นหลัก มีทั้งม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ม่วงอมสีชมพู และสีขาวประปราย และมักจะทยอยออกดอกให้เราเห็นตั้งแต่ปลายปี จนถึงเดือนกันยายนของอีกปีเลยทีเดียว แต่ต้นที่ดอกสีม่วงๆ ที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ชนิดเดียวกันนะ เพราะแต่ละชนิดก็มีช่วงเวลาการบานแตกต่างกันไป วันนี้เรามาแนะนำต้นไม้สี่ชนิดที่ว่านี้กันดีกว่าค่ะ ว่ามีลักษณะยังไงกันบ้าง และพอมีลักษณะอะไรที่เป็นข้อสังเกตุสำหรับต้นไม้สี่ชนิดนี้ให้แยกออกจากกันได้บ้าง ที่นอกเหนือไปจาก ประโยคที่ว่า “เสลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกล่อน” 
         อินทนิลน้ำ : ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ มีรอบด่างสีขาว ใบหนา โคนใบมน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ดอกสีม่วง ม่วงอมชมพู หรือสีชมพู ออกเป็นช่อชูขึ้นเหนือเรือนยอด กลับดอก 6 กลีบ โคนคอดเรียวเป็นก้านสั้น ช่วงเวลาการบานของดอกตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน
            อินทนิลบก : ลักษณะโดยส่วนใหญ่จะคล้ายอินทนิลน้ำ แต่โคนใบสอบ ปลายใบจะทู่ เปลือกลำต้นจะแตกเป็นร่องตื้นๆ หลุดเป็นสะเก็ดเล็กๆ ดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ โคนกลีบดอกคอดเป็นก้านซึ่งสั้นกว่าอินทนิลน้ำ ช่วงเวลาการออกดอกช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม
        เสลา : ลักษณะเปลือกของลำต้นค่อนข้างสังเกตุได้ง่าย โดยเปลือกจะแตกเป็นร่องตามยาวตลอดลำต้น ใบคล้ายอินทนิลแต่บริเวณเส้นใบมีขนนุ่ม ดอกจะมีขนาดไม่ใหญ่เท่าอินทนิล แต่ดอกจะมีสีม่วง หรือชมพู และมีสีขาวประปราย กลีบดอกจะย้วยหยักกว่าชนิดอื่นๆ ระยะเวลาการออกดอกจะอยู่ช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงกลางฤดูร้อน โดยดอกของเสลาจะพรั่งพรูทั้งต้น สวยราวดอกซากุระจึงได้รับสมญานามว่า “ดอกซากุระฤดูร้อน”
          ตะแบก : ลักษณะเด่นคือเปลือกลำต้นที่เรียบเป็นมัน และหลุดล่อน ใบอ่อนมีขนนุ่มปกคลุมตลอดใบ ใบแก่ผิวเรียบเกลี้ยง ช่อดอกชูเหนือเรือนยอด ดอกมีชีม่วง หรือม่วงอมชมพู เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว การออกดอกของตะแบกจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฏาคม ถึงเดือนกันยายน
       นอกจากจะสวยแล้ว ยังมีความน่าสนใจให้เราลองสังเกตุเพลินๆ ได้อีกด้วย สามารถเที่ยวชมหรือเรียนรู้ได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่  ทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. สอบถามเพิ่มเติม 053-114110 ถึง 5

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย