เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๑

  • 21/01/2016
  • จำนวนผู้ชม 4,086 คน

เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๑

ราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติของไทย

Golden shower is the National Flower of Thailand

 

สวัสดีครับผม

 

          ขอตามเกาะกระแสต้อนรับการเปิดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ที่เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มารู้จักพรรณไม้ประจำชาติของแต่ละประเทศผ่านเรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ในตอนแรกขอนำเสนอ ราชพฤกษ์ พรรณไม้ประจำชาติไทย

 

ดอกไม้ประจำชาติราชพฤกษ์
ชื่อ
ลมแล้ง รำลึกในถิ่นเหนือ
คูน อีสานบานไสว – ใต้ ลักเกลือ
ระย้าช่อก่อเกื้อเอื้ออวยชัย
เหลืองอร่ามยามโลกร้อนผ่อนทุกข์เศร้า
แผ่ร่มเงาห่มสีสันอันสดใส
ราชพฤกษ์งามสถิตชูจิตใจ
ราชธรรมนำไผทให้ร่มเย็น

-จิระนันท์ พิตรปรีชา-

 

           ราชพฤกษ์ หรือชื่อท้องถิ่นที่ใช้เรียกขานกันในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยว่า “คูน” บางส่วนในภาคกลางและภาคเหนือ ชัยพฤกษ์ ภาคกลาง ลมแล้ง ภาคเหนือ และ ลักเกลือ ภาคใต้  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษจะเรียกว่า ‘Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree’ เป็นพันธุ์ไม้ดอกยืนต้นที่จัดจำแนกอยู่ในวงศ์ CAESALPINIACEAE และมีทางพฤกษศาสตร์ว่า ‘Cassia fistula L.’ โดยคำที่ใช้ระบุชื่อชนิดว่า ‘fistula’ นั้นมาจากคำว่า ‘fistulosus’ (adj) แปลว่า เป็นหลุมลึกคล้ายท่อ ส่วนปลายเปิด ซึ่งอาจหมายถึงลักษณะการแตกแบบปลายเปิดของอับละอองเรณู

          ราชพฤกษ์ เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา เป็นไม้มงคลนามมีความหมายถึง “ต้นไม้ของพระราชา” เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง และถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย คราใดที่ดอกราชพฤกษ์บานเหลืองอร่ามเต็มต้น ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยอีกด้วย และมีความเชื่อกันว่า หากปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะทำให้คนในบ้าน “มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สง่างาม เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีตามหลักพระพุทธศาสนา และมีความมั่งคั่งร่ำรวย” เพราะราชพฤกษ์ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง เปรียบเสมือนพวงทองคำ นอกจากราชพฤกษ์จะเป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำชาติไทย ยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย

           ราชพฤกษ์ ต้นไม้และดอกไม้ประจำชาติไทย ถ้าย้อนไปตั้งแต่ครั้งเมื่อคราววันต้นไม้แห่งชาติยังคงกำหนดให้เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ ได้ชักชวนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์ต่างๆ อาทิ ราชพฤกษ์หรือคูน โดยที่ถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง มีมงคลนาม และมีอาถรรพณ์ ซึ่งคนโบราณใช้ในพิธีสำคัญๆ อาทิเช่นในพิธีลงหลักเมือง ก็ย่อมจะใช้เสาแก่นไม้ชัยพฤกษ์ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหารก็ใช้แก่นชัยพฤกษ์ อินทรธนูของข้าราชการพลเรือนก็ปักดิ้นทองเป็นช่อชัยพฤกษ์ (ส.พลายน้อย)  

          กระทรวงเกษตร กรมป่าไม้ ได้จัดประชุมเรื่อง การกำหนดต้นไม้และสัตว์ประจำชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๐๖ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๖ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดต้นราชพฤกษ์หรือคูณ เป็นต้นไม้ประจำชาติ ในปี พ.ศ. 2530 คณะกรรมการอำนวยการปลูกต้นไม้แห่งชาติได้มีการเชิญชวนให้มีปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน ๙๙,๙๙๙ ต้น ทั่วราชอาณาจักรเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมเรื่องการกำหนดเอกลักษณ์ประจำชาติไทยในเรื่องดอกไม้ประจำชาติ และได้ให้เหตุผลในการเลือกดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติ เพื่อส่งเสริมสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้มีผลระยะยาว ด้วยเหตุผลตามผลสรุปของการศึกษา และรวบรวมข้อมูลของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรว่า

          - ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลายสามารถขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทย

          - ราชพฤกษ์ ใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น ฝักเป็นสมุนไพรที่มีค่ายิ่งในตำหรับแพทย์แผนโบราณ และแก่นแข็งใช้ทำเสาเรือนได้ดี

          - ราชพฤกษ์ มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทยเพราะเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม และอาถรรพ์แก่นไม้ชัยพฤกษ์เคยใช้พิธีสำคัญๆ มาก่อน เช่น
            พิธีลงหลักเมืองใช้เป็นเสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ทำคธาจอมพล และยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร
            นอกจากนี้อินทรธนูของข้าราชการพลเรือนก็จำลองจากช่อชัยพฤกษ์เป็นเครื่องหมาย

          - ราชพฤกษ์ มีอายุยืนนานและทนทาน

          - ราชพฤกษ์ มีทรวดทรงและพุ่มงาม มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

                                                 

ประโยชน์ทางด้านยาสมุนไพร

          - ราก รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี

          - เปลือกต้น รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร

          - แก่น รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด

          - ใบ รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต

          - ดอก รสขมเปรี้ยว ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้เป็น ยาระบาย เป็นยาถ่ายแก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและแผลเรื้อรัง

          - ฝัก รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด ไม่มีพิษสรรพคุณใช้ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้เด็กเป็นตานขโมย เป็นยาถ่ายและแก้ไข้มาลาเรีย

          - เนื้อในฝัก รสหวานเอียน ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบาย แก้ไข้มาลาเรีย แก้ปวดข้อ เมล็ด เป็นยาระบายและทำให้อาเจียน แก้ท้องผูก ขับเสมหะ

          - เนื้อไม้และฝัก นำมาทำสีย้อมให้สีเหลือง ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายและผ้าไหม

 

          นอกเหนือจากเป็นพรรณไม้ปลูกประดับของแต่ละประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์แล้ว ในประเทศอินโดนีเซียนั้นยังมีการนำเอาเนื้อในฝักของราชพฤกษ์หรือที่ชาวอินโดนีเซียเรียกว่า Trengguli” มาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคนิ่วในไต ไข้ทรพิษ ฝีดาษ ปวดประจำเดือน ไข้คอตีบ แผลคันบริเวณผิวหนัง เริม กลากเกลื้อน ในขณะที่ใบมีประโยชน์สำหรับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร รากและเปลือกรากเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาแผล โรคหัด โรคบิด ภาษามาลายูในมาเลเซียเรียกราชพฤกษ์ว่า Bunga kayu raja” (บูงากายู รายา) หรือrajah kayu” (รายฺะฮ์ กายู) ซึ่งมีความหมายถึงต้นไม้ของพระราชาเช่นเดียวกับประเทศไทย ส่วนในประเทศเวียดนามเรียกว่า bò-cap nuóc” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า Cana pistula” ใบหรือเนื้อในฝักต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายช่วยรักษาอาการท้องผูก กัมพูชาเรียกว่า ផ្ការាជ (Phka Reach), លឿង ផ្ការាជ (Lueng Phka Reach) ลาวเรียกว่า ຄູນ Khoun พม่าเรียกว่า Mai Lum, Ngu, Ngu Sat, Ngu Shwé-wa

 

                                                                                          “ราชพฤกษ์ อร่ามเรื้อง      เรืองรอง

                                                                               ดุจดั่งระย้าทอง                         ผ่องหล้า

                                                                               ถวายพระเกียรติก้อง                  มหาราชา

                                                                               ทรงพระเจริญยิ่งฟ้า                   เหล่าข้าแผ่นดิน”

 

 

พบกันใหม่ในตอนต่อ ๆ ไปครับผม

กวีศิลป์ คำวงค์

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

คณะกรรมการวิชาการการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. สามเจริญพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร. 

ส.พลายน้อย. 2554. พฤกษานิยาย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. สำนักพิมพ์ยิปซี. กรุงเทพมหานคร.  

David H.Engel and Suchart Phummai. A Field Guide to Tropical Plants of Asia. Singapore: Marshall Cavendish Editions, 2007.

http://apps.cs.ipb.ac.id/ipbiotics/user/organism/detail/detail_organisme_obat.php?id=776

http://www.plantsofasia.com/index/cassia_fistula/0-376

http://www.stuartxchange.com/KanyaPistula.html

 
มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย